วิชาการศาสนาและศีลธรรม
หลักสูตรชั้นนายพัน
๑. ศาสนาเปรียบเทียบ
ข้อเปรียบเทียบระหว่างศาสนา เทวนิยม กับ อเทวนิยม
ศาสนาพหุเทวนิยม (Deism) เป็นศรัทธาเชื่อว่ามีพระเจ้าหลายองค์ (polytheism) สิงสถิตอยู่ในสรรพสิ่ง แต่พระเจ้าเหล่านั้นไม่มีอำนาจในการสร้างโลก ศรัทธาประเภทนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมชาติเทวนิยม
ศาสนาเทวนิยม (Theism) เป็นศรัทธาเชื่อว่ามีพระเจ้าสูงสุดอยู่แต่พระองค์เดียว (Monotheism) สถิตอยู่เป็นคู่โลก และพระเจ้านั้นทรงมีอำนาจสร้างโลก
ศรัทธาทั้งส่วนที่เป็น พหุเทวนิยม และ เทวนิยม เป็นศรัทธาเนื่องมาจากเทววิทยา (Theology) เป็นศรัทธาของหมู่ชนเผ่าเซมิติค (Semitic Race) ไม่เกี่ยวด้วยกฎของธรรมชาติ (Law of Nature) หรือกฎแห่งการกระทำ (Law of Karma)
ศาสนาส่วนเทวนิยมนี้ ก่อรูปขึ้นเป็นศาสนายิว (ยูดาย) เป็นมูลฐานของศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม
ศาสนาอเทวนิยม (Atheism) เป็นศรัทธาเชื่อกฎแห่งธรรมชาติ (Law of Nature) หรือกฎแห่ง การกระทำของบุคคลแต่ละคน (Law of Karma) หรือกฎแห่งเหตุผล ( Subject and Object) โลกสร้างขึ้นเป็นอยู่และสลายไปตามกฎเหล่านั้น เป็นศรัทธาของชาวอารยันกลุ่มหนึ่ง ในที่นี้ได้แก่ศาสนาเชน (ไชนะ) และศาสนาพุทธ เป็นต้น
ข้อเปรียบเทียบคติการสร้างโลกและการสลายแห่งโลก
ศาสนากลุ่มพหุเทวนิยม หรือ ธรรมชาติเทวนิยม ไม่มีศรัทธาเรื่องการสร้างโลก สร้างชีวิต โลกเกิดอย่างไร ชีวิตเกิดอย่างไร ไม่รู้ รู้เพียงแต่ธรรมชาติทุกอย่างมีพระเจ้าประจำอยู่
ศาสนากลุ่มเทวนิยม : คติ (ศาสนายิว) มีว่า ปฐมกาลโลกมีแต่ความมืดมน พระเจ้า (ยะโฮวา) ผู้ทรงมหิทธิศักดิ์ ทรงอำนาจสูงสุด ทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ในโลก ทรงสร้างแสงสว่างเพื่อทำลายความมืด ฯลฯ ทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นเจ้าของพืชและสัตว์ที่ทรงสร้างไว้แล้ว ฯลฯ มนุษย์ที่ทรงสร้างเป็น คนแรกชื่อ “อาดาม” เป็นชาย และทรงสร้างมนุษย์หญิงคนแรกชื่อ “เอวา” หรือ “อีฟ” มีลูกหลานว่านเครือไปเต็มโลก ล่วงมาประมาณ ๓๒ ชั่วคน (ช่วงละ ๑๐๐ ปี) พระเจ้าทรงเห็นว่า มนุษย์ทั้งหลายไม่เชื่อฟังไม่ปฏิบัติตามบัญญัติมีบาปหยาบช้านัก จึงทรงบันดาลให้ฝนตก ไฟไหม้ ล้างมนุษย์ ล้างโลก เสียครั้งหนึ่ง เหลืออยู่แต่มนุษย์และสัตว์ผู้มีธรรม พอน้ำท่วมโลกแห้งลง ก็ทรงสร้างโลกอีกต่อไป โดยนัยนี้ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามมีคติคล้ายคลึงกัน แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กันแห่งศาสนากลุ่มนี้
ศาสนากลุ่มอเทวนิยม มีศรัทธาเนื่องจากกฎของธรรมชาติและกฎของกรรม คติเรื่องโลก จึงปฏิเสธการสัมพันธ์กับพระเจ้า ผู้สร้างโลกนี้กำหนดถึงธาตุ (Supreme Elements) ซึ่งมีอยู่คู่กับโลก (ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ) เคลื่อนไหวผสมส่วนกันด้วยแรงผลักดันหรือพลัง (กรรม-การกระทำ) ของธรรมชาติหรือธาตุนั้น ๆ ก่อรูปของสรรพสิ่งและสรรพสัตว์น้อยใหญ่ขึ้นมาในโลกโดยลักษณะต่าง ๆ กัน ตามผลแห่งพลังนั้น ตราบเท่าที่คู่ธาตุ สมการของธรรมชาติยังดำรงคงอยู่ด้วยดี โลกก็ดำรงอยู่ได้ แต่โลก จะสลายไปจวบสมัยเมื่อคู่ธาตุและสมการของธรรมชาตินั้น ๆ ไม่มี
ข้อเปรียบเทียบหลักศรัทธาอันแสดงถึงฐานะของมนุษย์
มนุษย์กลุ่มพหุเทวนิยม หรือ ธรรมชาติเทวนิยม มีศรัทธาเพียงว่าฐานะของตนขึ้นอยู่กับพระเจ้าผู้สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบตัวเอง
มนุษย์กลุ่มเทวนิยม มีศรัทธาว่า ฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ (Human Status) ขึ้นตรงต่อผู้สร้าง (พระเจ้า) ปฏิเสธความสามารถของมนุษย์ ชีวิตต้องสุดแต่พระองค์ผู้ทรงสร้างมา (ลิขิต) มนุษย์ต้องเชื่อตามบัญญัติของพระเจ้า ปฏิบัติตนไปตามที่ทรงพระกรุณา (ให้มาเกิดและมีชีวิตอยู่) มนุษย์ทั้งหลายมีบาปติดมาแต่กำเนิด อันเนื่องมาจากบาปที่มนุษย์หญิงชายคู่แรกประกอบไว้ด้วยกันทั้งหมด (Origin of Sin) และโดยฐานะแห่งผู้มีบาปติดตัวมาดังนี้ จึงควรปฏิบัติตนให้ถูกพระทัยของพระเจ้า ด้วยการปฏิบัติตามจริยธรรมในสังคม อาทิ มีความรัก มีความกลัว รักเพื่อนบ้าน รักศัตรู ฯลฯ
(หมายเหตุ : เรื่องบาปติดตัวมาแต่กำเนิด เซ็นต์ปอล (St. Paul) สาวกคนสำคัญคนหนึ่งของพระเยซู อธิบายว่า มนุษย์มีความอ่อนแอติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ความอ่อนแอนี้ ได้แก่ความไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยลำพัง ด้วยเหตุนี้ (ในศาสนาคริสต์) จึงมีรับพิธีศีลจุ่ม (Baptism) เสียก่อน อธิบายว่า ศีลจุ่มเป็นพิธีล้างบาปให้หมดจากตัวมนุษย์ คือล้างความอ่อนแอ ความเศร้าหมอง และความไม่สามารถให้หมดไป อนึ่ง การที่มนุษย์รับศีลจุ่มโดยวิธีจุ่มศีรษะลงไปในน้ำนั้น หมายถึงการยอมรับว่าตนเป็นผู้โง่ เป็นผู้อ่อนแอ ต้องล้างทำลายความโง่ ความอ่อนแอ และความชั่วร้ายอื่นให้สูญสลายไป การยกศีรษะขึ้นมาจากพื้นน้ำ เท่ากับเป็นการชำระความมัวหมองทั้งปวงหรือเท่ากับเป็นการเกิดใหม่ ต่อแต่นั้น ถือว่าสภาพของจิตใจที่เคยอ่อนแอ เศร้าหมอง ขุ่นมัวด้วยอำนาจผีป่าซาตานทั้งหลาย ได้ปลาสนาการไปแล้ว)
บาปอันติดตัวมาก็ดี บาปอันกระทำขึ้นภายหลังก็ดี มีพิธีกรรมที่จะล้างเสียได้ด้วยพระกรุณาของพระเจ้าด้วยความกรุณาของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่ต่อมวลมนุษย์ชีวิตนี้มีหนเดียว ดวงวิญญาณที่มีบาป จะต้องพินาศไป ดวงวิญญาณที่ปราศจากบาปจะไปสู่สวรรค์ อยู่กับพระเจ้าเป็นนิรันดร ผู้ปฏิบัติดังกล่าว จะบรรลุถึงซึ่งความสุขสุดยอดในชีวิต คือได้ไปอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า ฯลฯ
ฐานะของมนุษย์ในศาสนากลุ่มนี้ มีหน้าที่ปฏิบัติต่อพระเจ้าในฐานะเป็นบุตรของพระเจ้า และ
สร้างเสริมให้มีฐานะเป็นมนุษย์ในอุดมคติ (ตามบัญญัติของพระเจ้า) อยู่ในสังคมแห่งโลก
มนุษย์กลุ่มอเทวนิยม มีศรัทธาว่า ฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ (Human Status ) ขึ้นตรงต่อกรรม คือ
การกระทำของตนเอง การกระทำในอดีต(ชาติก่อนหรือวันก่อน) จักมีกำลังให้ผลในปัจจุบันและอนาคตโดยลำดับเป็นเหตุเป็นผลของการกระทำอันเนื่องกันไป (กัมมัสสกตาสัทธา และ วิปากสัทธา)
กรรมเป็นเครื่องสร้างโลก สร้างสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ กรรมเป็นเครื่องแบ่งฐานะ ประเภท
ลักษณะของมนุษย์และสัตว์ให้มีความแตกต่างกัน
ฐานะของเรา เป็นทาสของกรรมที่เรากระทำไว้เอง เราหลีกจากความเป็นทาสกรรมไม่ได้ (กรรมลิขิต)
เราเป็นตัวของเราเองสร้างตัวเองด้วยการกระทำของเราเอง เราทำกรรมใดมา จะได้รับผลของกรรมนั้น
เราเป็นที่พึ่งของเรา หาใช่คนอื่นไม่
ชีวิตเป็นมาและเป็นไปตามอำนาจของกรรมหลายครั้งหลายครา เมื่อสิ้นชีวิตแล้วกรรมจะส่งผลให้
เกิดใหม่ เกิดและตายเป็นเส้นโซ่ผูกพันเวียนว่ายไปจนกว่าจะบรรลุถึงความสูญสิ้นแห่งกิเลส (นิพพานหรือโมกษะ)
ฐานะของมนุษย์ในกลุ่มนี้ มีหน้าที่ปฏิบัติเพื่อตน มีฐานะเป็นทาสแห่งการกระทำของตน และสร้าง
ฐานะของตนให้เป็นมนุษย์ในอุดมคติ (ตามบัญญัติแห่งกรรม) ออกไปจากสังคมและออกไปจากโลก
ข้อเปรียบเทียบ วิธีประกาศศาสนา
วิธีประกาศศาสนา คือวิธีทำงานของศาสดา สำแดงให้เห็นกุศโลบายของศาสดาแต่ละคน ที่ปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภูมิศาสตร์และสังคมนั้น ๆ เป็นข้อให้ระลึกว่า จักอยู่ในสังคมใดควรปฏิบัติตนอย่างไร เข้าลักษณะ รู้จักเทศ เหตุการณ์ และบุคคล
จักแสดงเฉพาะงานของศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนาใหญ่ อาทิ ศาสนายิว คริสต์ อิสลาม และพุทธศาสนา เพื่อมุ่งประโยชน์แก่สังคม อันสังกัดศาสนาใหญ่ที่มีผู้นับถือมากอยู่ในปัจจุบัน
ก. วิธีประกาศศาสนา ของโมเสส
โมเสส มองเห็นความแตกแยกใหญ่ และความมีทุกข์ใหญ่ของชาวยิวทั้งปวง สังคมของชาวยิวถูกทำลายมาเป็นเวลาช้านานจึงตัดสินใจประกาศบัญญัติ ๑๐ ประการ อ้างเอานามของพระยะโฮวามาเป็นใหญ่
ความพยายามและการตัดสินใจของโมเสส สามารถผูกชาวยิวไว้เป็นกลุ่มก้อนได้ แม้ต้องกระจัดกระจายไปอยู่แห่งหนตำบลใด โดยอาศัยบัญญัติ ๑๐ ประการ นั้น โมเสสประกาศ (บังคับ) ไว้เป็นสำคัญดังนี้
บัญญัติ ๑๐ ประการ เป็นเครื่องผูกพันกลุ่มคน พระเจ้าบัญญัติไว้เพื่อชาวยิวทั้งหลาย บัญญัตินั้นเป็นเครื่องผูกพันชาติ และวงศ์ตระกูล
โมเสสประกาศให้กลุ่มชาวยิว แต่งงานกันเองในหมู่ของตนเอง ไม่ยอมให้คนอื่นเข้าปะปน
ประกาศให้มีค่ายบริสุทธิ์ (Holy Tent ) ไว้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา โมเสสเองเป็นผู้ทำพิธี ค่ายบริสุทธิ์นี้ ต่อมากลายเป็นวิหาร หรือปูชนียสถานกลางของชาวยิวในภายหลัง
ประกาศให้มีหีบแห่งพระบัญญัติ (Ark of Covenant ) ภายในหีบมีหินศักดิ์สิทธิ์ จารึกบัญญัติไว้ ๒ แผ่น ให้ถือเท่ากับพระเจ้าได้ติดตาม (ลูกอิสราเอล) ไปด้วยทุกแห่งหน เพื่อความสามัคคีของชาติวงศ์
ข. วิธีประกาศศาสนา ของพระเยซู
เบื้องต้น พระเยซูประกาศเทศนาบนภูเขา (Sermon on the mount ) มีความสำคัญแสดงวิธีการ
ประกาศศาสนา อยู่ประโยคหนึ่งว่า “อย่าคิดว่า เรามาทำลายพระบัญญัติและคำสอนของศาสดาพยากรณ์ เรามิได้มาทำลาย แต่มาเพื่อจะ (แก้ไข) ทำให้สำเร็จ (ประโยชน์)”
ต่อแต่ประกาศเทศนานั้นแล้ว พระเยซูนำบัญญัติในบัญญัติ ๑๐ ประการ ของโมเสสลางข้อมาแก้ไข เพื่อประโยชน์ใหญ่แก่สังคม กว้างขวางออกไป อาทิบัญญัติข้อ ๖ (ห้ามมิให้ฆ่าคน) พระเยซูขยายออกไปถึงการฆ่าสัตว์ การประทุษร้ายทางวาจา และทางใจ เป็นการประหารด้วย
บัญญัติข้อ๗ (ไม่ให้ล่วงประเวณี) พระเยซูขยายออกไปถึงทางใจไม่ให้ละเมิดแม้แต่คิดล่วง
ประเวณี (ดูเรื่องในศาสนายิว) บัญญัติ ข้อ ๑๐ (เกี่ยวกับความโลภ ) พระเยซูขยายกว้างออกไป คือ ไม่ให้ตระหนี่ ใครขอเสื้อ ๑ ตัวควรให้อีก ๑ ตัว ให้ต่อสู้ความชั่วด้วยความดี ถ้าผู้ใดตบแก้มซ้ายให้ย้ายแก้มขวาให้ตบอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น
อาจเพราะเหตุแห่งการรู้ตัวว่ามีกำลังน้อย นักพรตยิวพวกหนึ่งมีกำลังมาก และยิวกำลังตกอยู่ในอำนาจของโรมัน พระเยซูจึงประกาศศาสนาเริ่มจากคนยากจน เด็กผู้อ่อนแอ และผู้ไม่มีที่พึ่งก่อน
เมื่อส่งสาวกไปประกาศศาสนา พระเยซูเรียกศิษย์มาสั่งสอนให้ช่วยรักษาคนเจ็บให้หาย ช่วยคนตายให้เป็น ช่วยขับผีปีศาจออกจากคนที่ถูกผีสิง ที่ใดควรไป ไม่ควรไป บ้านใดควรอาศัย ไม่ควรอาศัย ถ้าที่ใดไม่ต้อนรับไม่ยอมฟังคำสอน ให้รีบออกไป สะบัดผงคลีของบ้านนั้นอย่าให้ติด แม้แต่ที่เท้า
สอนศิษย์ว่า ไปถึงที่ใดให้พูดแก่มหาชนว่า “แผ่นดินสวรรค์เข้ามาใกล้ท่านแล้ว” และสั่งเสียไว้เป็นสำคัญว่า “เราใช้พวกท่านไป ดุจแกะอยู่ท่ามกลางฝูงหมาป่า เพราะฉะนั้นจงเป็นคนฉลาดเหมือนงู และเป็นคนสุภาพเหมือนนกพิราบ”
พระเยซู ตั้งเมตตา หรือความรักเป็นฐานแห่งการประกาศศาสนา เพื่อต้านทานกับความทารุณของโรมัน การประกาศศาสนาจึงเป็นไปในลักษณะอนุโลมตาม ทำนองเอาใจต่อผู้อ่อนแอ และผู้ไม่มีที่พึ่งทั้งปวง คนส่วนหนึ่งพากันนิยามชีวิตการสอนศาสนาของพระเยซูว่า “ไม่สู้” และต้องถูกจับประหารเพราะความอ่อนแอนั้น
ค. วิธีประกาศศาสนาของพระมหะหมัด
พระมหะหมัดรู้ตัวว่าเป็นคนไม่รู้หนังสือ รู้ความจริงว่าเผ่าคนทั้งหลายในแหลมอาหรับ ตั้งตัวเป็นศัตรูของตน ทุกเผ่าไม่ยอมรับคำสอนของตน และศึกษาวิธีประกาศศาสนาของพระเยซูมาด้วยดีว่า ศาสดา ผู้นั้น ต้องสูญเสียชีวิตเพราะความอ่อนแอ อาศัยเป็นคนบึกบึน มีความปรารถนาใหญ่ และมั่นใจในเทพโองการ จึงเปลี่ยนวิธีการสอนศาสนา ตรงข้ามจากที่พระเยซูเคยกระทำมา แสดงตัวเป็นคนเข้มแข็ง ไม่กลัวตาย ใครขัดขืน ใช้กำลังเข้าปราบ ใช้อาวุธเป็นเครื่องมือประกาศศาสนาบ่อยครั้ง เกือบเอาชีวิตไม่รอด ชนะที่ใด
ประกาศศาสนาและการปกครองลงในที่นั้น พระมหะหมัดรักษาชีวิตตลอดมาได้เพราะต่อสู้ ได้เป็นศาสดาใหญ่ และเป็นผู้บริหารประเทศผู้ยิ่งใหญ่ในคราวเดียวกัน
การสงคราม กับการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม เป็นของคู่กันไปในประวัติศาสตร์ของศาสนานี้
ง. วิธีประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้า ผู้ประกาศพุทธศาสนา เสด็จออกสู่บรรพชาเพศ เพราะทรงเบื่อหน่ายในสังคมอัน
เกลื่อนกล่นด้วยวรรณะ (ชั้น) ของหมู่ชนอันแตกแยกออกเป็นพวกเป็นเหล่าดูหมิ่นเหยียดหยามกัน ฯลฯ
พระโคดม ทรงมุ่งยังสังคมอันแตกแยกสูงต่ำกว่ากันให้เสมอเหมือนกัน ชาติและโคตรมิได้เป็นเครื่องแบ่งแยกมนุษย์ บุคคลพึงเสมอกันโดยธรรม ประกาศความเสมอเหมือนกันในหมู่สงฆ์สาวก เริ่มแต่การครองผ้า ความเป็นอยู่ด้วยอาหารบิณฑบาต และหลักการปกครองอันถือธรรมเป็นใหญ่ (ธรรมาธิปไตย) กว่าบุคคล
ทรงประกาศความไม่มีทาสทางส่วนตัว และที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกันระหว่างวรรณะปฏิรูปเรื่องการทำบุญที่เคยฆ่าสัตว์บูชายัญ ทรงเปลี่ยนเป็นให้สงเคราะห์กันแทนการเบียดเบียนกัน ฯลฯ
วิธีการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า มุ่งตรงไปยังกลุ่มของนักบวช คณาจารย์ อันเป็นแหล่งคารวะบูชาของคนในสมัยนั้น จากน้อยไปหามาก ได้คณาจารย์เสียคนหนึ่งแล้ว จะมีปัญหาอะไรที่ศิษย์ ไม่ทรงเกี่ยวข้องกับผู้มีทิฏฐิมานะกล้า เช่น กลุ่มกษัตริย์ และนักการเมืองในขั้นต้น
เมื่อทรงได้ผลจากขั้นหนึ่งแล้ว ทรงประกาศเข้าไปในกลุ่มกษัตริย์และนักปกครองผู้เป็นหัวหน้า เมื่อได้กษัตริย์ ได้หัวหน้าคนเสียแล้ว จะมีปัญหาอะไรกับผู้คนในบ้านเมือง
พระพุทธเจ้า ทรงรับรู้เรื่องปาฏิหาริย์ อันจำแนกออกเป็น ๓ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ การแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ การกำหนดทายใจผู้อื่นได้เป็นอัศจรรย์ และอนุศาสนียปาฏิหาริย์ การสั่งสอนได้เป็นอัศจรรย์ แต่ทรงยกย่องอนุศาสนียปาฏิหาริย์อย่างเดียวว่าเป็นเลิศ เป็นประโยชน์ใหญ่
การประกาศคำสอนของพระองค์ เป็นไปในลักษณะอนุศาสนียปาฏิหาริย์ คือ ทรงประกาศ
ให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
มีเหตุผล (อันพิสูจน์ได้) ที่ผู้ฟังเห็นได้ตามความจริง
มีผลเป็นอัศจรรย์ คือปฏิบัติตาม จะได้รับผลสมการปฏิบัติ
พระพุทธเจ้า ใช้วิธีประกาศศาสนา โดยไม่ยอมขัดใจใคร ไม่บังคับใคร ปล่อยให้ทุกคนมี เสรีภาพ
ในความคิด ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่ออย่างไร สุดแต่สติปัญญาพิจารณาเห็นด้วยตนเอง
วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ มีหลักพุทธศาสนาว่า
มา อนุสสะเวนะ อย่าปลงใจเชื่อด้วยฟังตามกันมา
มา ปะรัมปะรายะ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
มา อติกิรายะ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
มา ปิฏกสัมปทาเนนะ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์
มา ตักกเหตุ อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรก
มา นยเหตุ อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
มา อาการปริวิตักเกนะ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
มา ภัพพรูปตายะ อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าจะเป็นไปได้
มา สมโณ โน ครูติ อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
สูตรนี้ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะแสดงที่เกสปุตตนิคม ที่ชื่อกาลามสูตรเพราะแสดงแก่ชนเผ่ากาลามะ
ศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ ประกอบด้วยประโยชน์ ๓ ประการ อันผู้ปฏิบัติตามเลือกเอาได้อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
ประโยชน์ปัจจุบัน ในขณะยังมีชีวิตอยู่ (มนุษย์สมบัติ)
ประโยชน์ข้างหน้า เมื่อชีวิตละจากโลกนี้ไปแล้ว (สวรรค์สมบัติ)
ประโยชน์สูงสุด คือความหลุดพ้นจากโลกอันมัวเมา(นิพพานสมบัติ)
ข้อเปรียบเทียบหลักความดีสูงสุด (SUMMUM BONUM)
ศาสดาผู้ประกาศศาสนาทั้งหลาย มีฐานะเหมือนนายเรือมุ่งหมายพาผู้โดยสารให้ถึงฝั่งด้วยกันสิ้น
จะผิดเวลาช้าเร็ว อ้อมค้อม ไม่สะดวกสบายไปบ้างในระหว่างเดินทาง ย่อมแล้วแต่กรรมวิธีของนายเรือ อันเกิดจากเหตุผลต่างกัน
ศาสดาผู้ประกาศคำสอน ย่อมมีกรรมวิธีสั่งสอนปวงชนให้ปฏิบัติตามคำสอนนั้น เพื่อให้เข้าถึงซึ่งฝั่งอันปรารถนาเป็นชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูงสุดตามควรแก่อุปนิสัยสามารถของผู้ปฏิบัติ
หลักปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุดของศาสนาทั้งหลายนั้น ศาสดาแต่ละศาสดาวางไว้ดังนี้
หลักปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุดในศาสนายิว
โมเสส ผู้ซึ่งโลกยอมรับว่า เป็นศาสดาของศาสนายิว (ประกาศบัญญัติของพระเจ้า๑๐ ประการ)
เป็นหลักปฏิบัติต่อพระเจ้าและต่อสังคมเพื่อความดีสูงสุด คือ
๑. อย่ามีพระเจ้าอื่นต่อหน้าเราเลย
๒. อย่าทำรูปเคารพพระเจ้าใด ๆ ฯลฯ
๓. อย่าออกนามพระยะโฮวา โดยเปล่าประโยชน์
๔. อย่าทำงานในวันสปาโต (วันเสาร์ อันเป็นวันพระเจ้าหยุดสร้างโลก)
๕. นับถือบิดามารดา
๖. อย่าฆ่าคน
๗. อย่าล่วงประเวณีผัวเมีย
๘. อย่าลักทรัพย์ของผู้อื่น
๙. อย่าเป็นพยานเท็จต่อเพื่อนบ้าน
๑๐. อย่าโลภในสิ่งของ ในภรรยา ในข้าทาสชายหญิงของเพื่อนบ้าน
บัญญัติสำคัญสูงสุดในศาสนานี้ ได้แก่บัญญัติเกี่ยวกับความรัก อันเป็นเครื่องเชื่อมระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าให้เข้ากันได้
หลักปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุดในศาสนาคริสต์
พระเยซู ศาสดาของศาสนาคริสต์ ทรงเป็นผู้ฉลาดดัดแปลงคำสอนส่วนแคบของยิวแต่เดิมมาให้
กว้างขวาง และมีคติสูงส่งขึ้น
คำสั่งสอนที่สำคัญยิ่งยวดของพระเยซูคือ ความรัก พระเยซูทรงสั่งสอนให้มนุษย์รักพระเจ้า รักเพื่อนบ้านเหมือนกับรักตนเอง รักแม้กระทั่งศัตรูของตน ศาสนารักของพระเยซูเป็นศาสนาสากล ประกอบด้วยมโนธรรมสูงสุด ยากที่จะหาคำสอนของศาสนาใดในสายเดียวกันมาเทียบเคียงได้
ข้อปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุด ในศาสนาคริสต์ที่พระเยซูเป็นผู้ประกาศ คือการปฏิบัติให้มีความรักพระเจ้า รักเพื่อนบ้านของตนเอง และรักศัตรูของตนเอง
เซ็นต์ ปอล. (ST Paul) คริสตสาวกคนสำคัญคนหนึ่ง อรรถาธิบายความรักที่พระเยซูทรงสั่งสอน ไว้ว่า ความรักอันนี้เป็นความรักที่ไม่มีการเห็นแก่ตัว (Unselfish Love) คลุกเคล้าอยู่ด้วยแม้แต่เพียงเล็กน้อยความรักนั้นได้แก่ความรักศัตรูเป็นความรักที่ประกอบด้วยเมตตาให้อภัยและไม่หวังผลตอบแทน ความรักอันนี้เป็นความรักที่พระเจ้ามีต่อมวลมนุษย์ที่ทรงสร้าง ด้วยความรักอันนี้ ที่พระเจ้าทรงสร้าง พระบุตร (คือ พระเยซู) ลงมาช่วยให้มนุษย์ปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุด เป็นการเปิดทางรอด (Salvation) ให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย และลักษณะแห่งความรักอันนี้เอง ที่เรียกว่า Divine Love (Agape) เป็นความรักสามารถรวมมนุษย์กับพระเจ้าให้เข้ากันได้
หลักปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุดในศาสนาอิสลาม
ผู้นับถือศาสนาอิสลามทุกคนมีศรัทธารากฐานแห่งจิตใจเป็นเบื้องต้นว่า “ไม่มีพระเจ้าองค์ใดในโลก นอกจากพระอัลเลาะห์เจ้า (อ้าหล่า) ท่านนะบีมหะหมัดผู้เดียว เป็นผู้รับบัญชามาจากพระอัลเลาะห์พระองค์นั้น”
เบื้องหน้าแต่นั้น มุสลิมมีหลักปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุดแห่งชีวิตของตนด้วยการมีศรัทธา (และการปฏิบัติ) ๕ ประการ
หลักศรัทธา ๕ ประการ คือ
๑. ศรัทธาในพระอัลเลาะห์เจ้าว่าไม่มีพระเจ้าองค์ใดนอกจากพระองค์ พระองค์เป็นผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง ยิ่งด้วยพระเดช ยิ่งด้วยเมตตา ฯลฯ และเพื่อยังศรัทธาให้สมบูรณ์ ต้องมีศรัทธาอื่นเป็นส่วนประกอบด้วย คือ
ก. ศรัทธาในอำนาจหน้าที่ของเทพบริวาร
ข. ศรัทธาในคัมภีร์กุระอ่าน
ค. ศรัทธาในผู้แทนพระอัลเลาะห์เจ้า (นะบี)
ง. ศรัทธาว่า มนุษย์ต้องกลับมาเกิดเมื่อสิ้นโลกด้วยการสร้างของพระอัลเลาะห์เจ้านั้น
๒. ศรัทธา (และต้อง) สวดมนต์ทุกวัน ๆ ละ ๕ ครั้ง
๓. ศรัทธา (และต้อง) ถือศีลอดในเดือนรามาดอน (เดือน ๙ ของอิสลาม) ๑ เดือนเต็ม
๔. ศรัทธา (และต้อง) ให้ทานซึ่งแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ ซากัตและซาดากัต
๕. ศรัทธา (และต้อง) ธุดงค์ไปบูชา (บวช) ที่เมกกะครั้งหนึ่งในชีวิตในที่สุด ข้อปฏิบัติสูงสุดใน
ศาสนานี้ คือ ความรัก อันเป็นเครื่องผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าให้เข้ากันได้ (ทำนองศาสนาของเผ่า เซมิติคกลุ่มอื่น)
หลักปฏิบัติเพื่อความสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู)
ผู้หวังความดีสูงสุดแห่งชีวิตจะต้องบำเพ็ญตนตามหลักของอาศรมทั้ง ๔ คือ พรหมจารี คฤหัสถ์
วนปรัสถ และสันยาสี โดยลำดับ
หลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุความดีสูงสุดของชาวอารยันกลุ่มนี้คือ การนำอาตมันของตนให้เข้าถึงซึ่งปรมาตมันอันเป็นมูลเดิมคือ ตัวปฐมวิญญาณ เข้าถึงได้เมื่อใด เรียกว่าโมกษะ (หลุดพ้น) เมื่อนั้น ผู้ปฏิบัติจักต้องดำเนินตามหลักอาศรมทั้ง ๔ เริ่มจากขั้น ๑ ถึงขั้น ๔
ขั้น ๔ เป็นขั้นสูงสุด ปฏิบัติตนเป็นสันยาสี ผู้แสวงธรรม
สันยาสี สละโลกีย์ทั้งสิ้นออกบำเพ็ญพรตในราวไพร ตรงนี้พราหมณ์ไพรต้องปฏิบัติตามหลักของโยคี เรียกว่าโยคะ มี ๔ ประการ คือ
กรรมมรรค (กรรมโยคะ) ปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ภักติมรรค (ภักติโยคะ) ปฏิบัติด้วยการอุทิศตน ภักดีต่อพระเจ้าโดยส่วนเดียว
ชยานมรรค (ชยานโยคะ) ปฏิบัติด้วยรวมกำลังความรู้ได้เป็นหนึ่งเห็นแจ้งแทงตลอดธรรมแต่ละอย่าง
ราชมรรค (ราชโยคะ) ปฏิบัติด้วยการฝึกทางใจ บังคับใจให้อยู่ในอำนาจด้วยการบำเพ็ญตบะโยคะ
ผู้ปฏิบัติได้ละจากโลกนี้ไปแล้ว ดวงวิญญาณอันเป็นอมตะ (อาตมัน) จะถึงซึ่งโมกษะ คือการเข้าไปรวมอยู่กับปรมาตมัน
การบำเพ็ญตามมรรคทั้ง ๔ พราหมณ์เชื่อว่า อาตมันจะเข้าถึงปรมาตมันเป็นโมกษะได้
หลักปฏิบัติเพื่อความดีสูงสุดในพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้า ทรงประกาศคำสอนเพื่อความดีสูงสุดของผู้ปฏิบัติแต่ละขั้นดังนี้
ความสุขขั้นต้น (ทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์) ให้ปฏิบัติด้วยการมีความเพียรแสวงหา ด้วยการบำรุงรักษาสิ่งที่แสวงหามาได้ ด้วยการคบเพื่อนที่ดี และด้วยการรู้จักเลี้ยงชีวิตโดยควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้
ความสุขขั้นกลาง (สัมปรายิกัตถประโยชน์) ให้ปฏิบัติเพื่อความดีในโลกหน้า ด้วยการมีศรัทธาตามเหตุและผล ด้วยการให้มีศีล ด้วยการให้มีการเสียสละ และด้วยการมีปัญญา รู้จักคติของธรรมดา
ความสุขขั้นสูงสุด (ปรมัตถประโยชน์) การปฏิบัติขั้นนี้ได้แก่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจาทุกข์ (บรรลุนิพพาน) ให้ปฏิบัติตามไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) คือการศึกษาชั้นสูง ๓ อย่าง ได้แก่มีศีล บำเพ็ญสมาธิ ให้เกิดปัญญา (พิจารณาและปฏิบัติตามอริยมรรค ๘ ประการ)
ศีล สมาธิ ปัญญา อันบุคคลอบรมได้สมบูรณ์ จักสัมพันธ์กันประดุจเชือก ๓ เกลียว เอามือจับเข้าที่เกลียวใด ย่อมกระทบไปทั้ง ๓ เกลียว จักอำนวยผล คือ การดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ เป็นขั้นสุดท้าย
พุทธปรัชญา
ความหมายของปรัชญา
คำว่า “ปรัชญา” แปลจากคำในภาษาอังกฤษว่า “Philosophy” คำเดิมมาจากภาษากรีกว่า Philein เป็นกิริยา แปลว่า รัก (Love) เป็นนามว่า Philos แปลว่า ผู้มีความรัก (Lover) ผสมกับคำว่า Sophia แปลว่า ปัญญา (Wisdom) รวมกันแล้วได้ความหมายว่า ผู้รักความรู้ ( A Lover of Wisdom ) หรือผู้รักรู้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายว่า วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้ และความจริง
ตามความหมายทั่ว ๆ ไป คำว่า ปรัชญา เป็นเพียงระบบความคิดหรือทรรศนะอันหนึ่งซึ่งไม่มีจุดจบ เป็นผลที่เกิดจากความเชื่อถือซึ่งไม่มีหลักปฏิบัติเป็นจริยธรรมเพื่อความหลุดพ้น
แต่พระพุทธศาสนา แม้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในฐานะเป็นคำสอนทางศาสนาก็จริง แต่ก็มีแนวความคิดทางปรัชญาแทรกอยู่ เพียงแต่ว่าโลกทัศน์ของพระพุทธศาสนาต่างจากโลกทัศน์ของปรัชญาสำนักอื่น ๆ นั่นคือปรัชญาโดยทั่วไปเริ่มต้นด้วย ความสงสัยประหลาดใจ (วิจิกิจฉา) และจบลงด้วยการคิดเหตุผลต่อปัญหาความสงสัยนั้น (จินตามยปัญญา) ส่วนพุทธปรัชญาเริ่มต้นด้วยปัญหาความสงสัยหรืออาจเริ่มต้นด้วยความเชื่อ (ศรัทธา) แต่มิได้จบลงแค่ความคิดเหตุผลแต่จบลงด้วยปัญญา คือ ความรู้ที่เกิดจากผลแห่งภาคปฏิบัติ (ภาวนมยปัญญา)
อภิปรัชญาแนวพุทธ
ปัญหาเรื่องจุดกำเนิดและจุดสิ้นสุดของโลกนั้นเป็นปัญหาส่วนหนึ่งของอภิปรัชญา และปัญหาส่วนนี้ศาสนาพุทธไม่ค่อยสนใจ แต่อภิปรัชญายังถกเถียงปัญหาอื่น เช่นสภาพที่แท้จริงอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์ และของโลกภายนอก เป็นต้น ปัญหาลักษณะนี้พระพุทธองค์ทรงอธิบายเพราะเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับปัญหาเรื่องความทุกข์ มนุษย์ไม่อาจแยกตัวเองออกจากโลกภายนอกได้ ความสุขความทุกข์ของมนุษย์ย่อมขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์อย่างไรกับโลกภายนอกและมีความสัมพันธ์อย่างไรกับตัวมนุษย์เอง และการจะเข้าใจความสัมพันธ์นี้มนุษย์จะต้องเข้าใจสภาพความจริงของตัวเองและของโลก
ดังนั้นศาสนาพุทธจึงได้ให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ๓ ประเด็นคือ
๑. โลกแห่งสามัญวิสัย
๒. โลกพ้นสามัญวิสัย
๓. และธรรมชาติของมนุษย์
โลกแห่งสามัญวิสัย
โลกแห่งสามัญวิสัยในที่นี้หมายถึง โลกแห่งวัตถุที่ประสาทสัมผัสทั้งห้ารับรู้ได้เกี่ยวกับโลกแห่งวัตถุนี้ศาสนาพุทธยอมรับว่ามีอยู่จริงโดยตัวเอง สรรพสิ่งทั้งปวงที่เป็นวัตถุรวมทั้งร่างกายของมนุษย์ แยกออกเป็นปฐมธาตุได้ ๔ อย่าง ดิน (ปฐวี), น้ำ (อาโป), ลม (วาโย), ไฟ (เตโช) สิ่งมูลฐานทั้ง ๔ นี้ รวมตัวกันบ้างแยกตัวกันบ้าง ทำให้มีการเกิด การเปลี่ยนแปลง และการดับซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งปรากฏการณ์ทางวัตถุต่าง ๆ
ความทุกข์ความสุขของมนุษย์ไม่ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งต่าง ๆ ในโลกประกอบไปด้วยอะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์ให้ความหมายอย่างไรกับมัน การเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของชีวิตอยู่ที่การเข้าใจธาตุแท้ภายในของตัวมนุษย์เองมากกว่าเข้าใจธาตุแท้ของวัตถุในโลกภายนอก ความสุขสงบที่แท้จริงของมนุษย์มิได้อยู่ที่ความสามารถในการควบคุมโลกภายนอก แต่อยู่ที่ความสามารถในการควบคุมจิตใจของตนเอง
ตามทัศนะของพุทธปรัชญาสิ่งต่าง ๆ ในโลกมีอยู่จริงได้โดยที่ไม่อาศัยจิตมนุษย์ กล่าวคือ ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์และสัตว์อื่นมิได้สร้างสิ่งทั้งหลายขึ้น และแม้สิ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดจะไม่มารับรู้มัน มันก็ยังดำรงอยู่อย่างนั้น โลกที่ไม่ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของมนุษย์นั้นคือ โลกบริสุทธิ์ดั้งเดิมที่ปราศจากค่าและความหมาย แต่โลกที่ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของมนุษย์นั้นคือ โลกมนุษย์ที่มนุษย์ใส่ค่าและความหมายให้แล้ว
ความเปลี่ยนแปลง
ตามทัศนะของศาสนาพุทธ ความเปลี่ยนแปลงเป็นสภาพที่แท้จริงของโลก หลักไตรลักษณ์สอนว่าสิ่งทั้งปวงที่เราพบเห็นประจำวันนั้นมีลักษณะ ๓ ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันที่จริงทั้งทุกขัง และอนัตตาก็มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอนิจจัง ซึ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลง
ทุกสิ่งที่เราเห็นในโลกล้วนเป็นตัวของตัวเอง และไม่เป็นตัวของตัวเองในเวลาเดียวกัน ไม้ก็คือไม้ แต่ในเวลาเดียวกันไม้ก็มิใช่ไม้ เพราะความเป็นเถ้าแฝงอยู่
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสรรพสิ่งนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ตายตัว ดังที่กล่าวไว้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ กฎธรรมชาติที่ควบคุมสรรพสิ่งมี ๕ กฎ คือหนึ่ง อุตุนิยาม คือ กฎที่ว่าด้วยสิ่งไร้ชีวิต สองพีชนิยาม กฎที่ว่าด้วยสิ่งมีชีวิต สามจิตนิยาม กฎที่ว่าด้วยความเป็นไปของจิต สี่กรรมนิยาม คือกฎแห่งกรรม และห้าธรรมนิยาม กฎที่ว่าด้วยความดีงามสูงสุด
ศาสนาพุทธพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง โดยมีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในฐานะผู้สังเกตการณ์วงนอก แต่ศาสนาพุทธศึกษา
เรื่องความเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของโลก
เกิดขึ้นกับสิ่งทุกสิ่ง แต่เมื่อเราเห็นโลกไม่ตรงตามที่มันเป็นจริงแต่สร้างโลกขึ้นมาโดยการให้ความหมาย
แก่มัน ความหมายนี้ทำให้เราไปพัวพันกับโลกตามที่ได้อธิบายมาแล้ว เมื่อไปพัวพันกับโลกก็อยากให้
โลกดำเนินไปตามเราคาดหวัง แต่ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของทุกสิ่ง ดังนั้นความผิดหวังหรือ
ความทุกข์ก็มีได้เสมอ ความเปลี่ยนแปลงจึงดูเหมือนเป็นสาเหตุของความทุกข์ แต่แท้ที่จริงแล้ว มนุษย์
นั้นเองเป็นสาเหตุของความทุกข์ของตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับสิ่งใดก็ตามยังความทุกข์ให้ใคร
ไม่ได้ นอกจากคน ๆ นั้นนำตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เขาสร้างขึ้น
โลกพ้นสามัญวิสัย
โลกพ้นสามัญวิสัย ในที่นี้หมายถึง โลกที่ไม่สามารถรู้จักได้ด้วยประสาทสัมผัสธรรมดาหรือโลกที่ประสาทสัมผัสของคนธรรมดาสามัญทั่วไปมองไม่เห็น บางลัทธิปรัชญาหรือบางศาสนาเชื่อว่า โลกชนิดนี้มีอยู่จริง เช่น ศาสนาคริสต์ เชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้า เพลโต้ เชื่อว่ามีโลกแห่งแบบ หรือโลกแห่ง ไอเดีย ลัทธิพราหมณ์เชื่อว่า พรหมหรือปรมาตมัน ซึ่งลัทธิศาสนาหรือลัทธิปรัชญาดังกล่าวถือว่า จุดหมายปลายทางของชีวิตก็คือการได้เข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลกชนิดนี้
พุทธศาสนาปฏิเสธการมีอยู่จริงแห่งโลกที่อยู่ในรูปของพระเจ้า รูปของแบบหรือรูปของพรหมหรือปรมาตมัน แต่พุทธศาสนาก็เชื่อว่ามีโลกที่พ้นสามัญวิสัยบางอย่าง เป็นโลกแห่งความจริงเท่ากับโลกมนุษย์ ต่างกับลัทธิศาสนาอื่นตรงที่ว่า โลกชนิดนี้มิใช่จุดหมายสุดท้ายของชีวิต นรกหรือสวรรค์ มิได้เป็นโลกที่นิรันดรแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังสารวัฎ สัตว์สามารถขึ้นไปบนสวรรค์ หรือลงนรกได้เป็นการชั่วคราว จุดหมายสุดท้ายของชีวิตในทัศนะของพุทธศาสนาคือ นิพพาน
ทัศนะของศาสนาพุทธเกี่ยวกับพระเจ้า
ในบรรดาศาสนาหรือลัทธิที่ถือว่ามีพระเจ้านั้น ที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นศาสนา แบบเทวนิยม ซึ่งมีทัศนะว่า มีพระเจ้าองค์เดียว เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งรวมทั้งมนุษย์ พระเจ้าเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิตมนุษย์ เป็นผู้ให้ความจริง ความดี ความงามแก่โลก เป็นกฎศีลธรรมและเป็นผู้ให้รางวัลและลงโทษผู้ทำดีทำชั่ว เป็นผู้ค้ำจุน และให้ความหมายแก่ชีวิตของมนุษย์ และมนุษย์อาจเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยศรัทธา โดยสรุป พระเจ้าเป็นทั้งจุดตั้งต้นและจุดหมายปลายทางของชีวิตมนุษย์
พระเจ้าตามลักษณะนี้ ศาสนาพุทธปฏิเสธว่าไม่มีจริง
ศาสนาพุทธเชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้ลิขิตชีวิตของตนเอง กฎแห่งกรรมเป็นกฎซึ่งควบคุมผลแห่งการกระทำของมนุษย์ แต่กฎแห่งกรรมมิใช่พระเจ้า เพราะพระเจ้ามีลักษณะเป็น “บุคคล” ส่วนกฎแห่งกรรม ไม่มีลักษณะเช่นนั้น
สวรรค์ นรก เทวดา
แม้ศาสนาพุทธจะปฏิเสธว่าไม่มีพระเจ้าผู้สร้างโลก แต่ศาสนาพุทธเชื่อว่ามีโลกที่อยู่พ้นสามัญวิสัยบางอย่าง โลกมนุษย์หรือมนุษย์ภูมิมิใช่โลกแห่งความจริงเพียงอย่างเดียว ยังมีเทวภูมิ คือสวรรค์ หรือโลกของเทวดา และอบายภูมิคือโลกของสิ่งที่ต่ำกว่ามนุษย์ เช่น นรก เดรัจฉาน เปรต เป็นต้น นรกสวรรค์นั้นตาของคนธรรมดามองไม่เห็น แต่ผู้ที่ได้บรรลุญาณถึงขั้นหนึ่งแล้วได้ตาทิพย์จึงจะเห็นได้ นรกสวรรค์ในศาสนาพุทธมิใช่จุดหมายสุดท้ายของการเดินทางชีวิตเหมือนกับที่บางศาสนาเชื่อว่า สวรรค์นรกเป็นนิรันดร นรกสวรรค์ของศาสนาพุทธเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังสารวัฏ สัตว์โลกทั้งหลายขึ้นไปลงมาได้เป็นของชั่วคราว จุดหมายสุดท้ายของการเดินทางชีวิตคือนิพพาน
อย่างไรก็ตาม ความมีอยู่หรือไม่มีอยู่จริงของสวรรค์ นรก เทวดา ฯลฯ ไม่ขัดคำสอนหลักของศาสนาพุทธ เพราะว่าตามคติของพุทธเราอาจบรรลุจุดหมายสูงสุด (นิพพาน) ได้ในชาตินี้ศาสนาพุทธสอนว่าความทุกข์เกิดจากตัณหา การขจัดตัณหาได้ทีละน้อยจนกระทั่งสิ้นเชิง เป็นการดำเนินวิถีชีวิตตามแนวพุทธ และการดำเนินชีวิตตามวิถีนี้จะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ นรก ฯ ล ฯ ก็ได้
ธรรมชาติของมนุษย์
เมื่อพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ ปัญหาพื้นฐาน ๒ ปัญหาที่พูดกันในวงการปรัชญา คือ ปัญหาจิต – กาย และปัญหาเรื่องเจตจำนงเสรี เราจะพูดถึงทัศนะของพุทธปรัชญาที่มีต่อปัญหาทั้งสองนี้
จิต – กาย
ศาสนาพุทธสอนเรื่องอนัตตา คือ ปฏิเสธว่าในตัวมนุษย์ไม่มีอะไรที่เป็นยืนโรงอยู่อย่างจีรังยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งในโลกแห่งกายและโลกแห่งจิตของมนุษย์ มนุษย์ประกอบไปด้วยจิตและกาย สภาพทางจิตมี ๔ อย่าง กายมีหนึ่ง รวมทั้งหมดเป็น ๕ อย่าง เรียกว่า ขันธ์ ๕ มีดังนี้
๑) รูป คือ ร่างกายของมนุษย์ ประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ เสมือนกับวัตถุอื่น ๆ ในโลก
๒) วิญญาณ มิได้หมายถึงโซลหรืออาตมัน ซึ่งคงที่ตายตัวแน่นอน แต่หมายถึงการรับรู้แต่ละครั้งที่เกิดขึ้นเมื่อ รูป เสียง กลุ่ม รสสัมผัส และความนึกคิดมากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อการกระทบเกิดขึ้น วิญญาณก็เกิด
๓) เวทนา ทุกครั้งที่วิญญาณเกิดขึ้นจะมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นต่อสิ่งที่มากระทบทำให้เกิดวิญญาณ คือ ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉย ๆ เวทนาเป็นศักยภาพอีกอันหนึ่งของสิ่งมีชีวิตซึ่งท่อนไม้ไม่มี
๔) สัญญา คือ ความสามารถที่จะจำ คือรู้ว่าสิ่งที่มากระทบขณะนี้เหมือนหรือต่างกับสิ่งก่อน ๆ ที่เคยกระทบอย่างไร สัญญาเป็นความสามารถที่โยงอดีตเข้ากับปัจจุบัน หากไม่มีสัญญาโลกที่มนุษย์ประสบแต่ละขณะก็จะเป็นโลกใหม่สำหรับมนุษย์อย่างสิ้นเชิง
๕) สังขาร มนุษย์เรามีร่างกาย (รูป) เมื่อมีสิ่งภายนอกมากระทบก็เกิดการรับรู้ (วิญญาณ) แล้วก็เกิดชอบหรือไม่ชอบ (เวทนา) เหตุการณ์ที่รับรู้มานี้ก็จารึกอยู่ในความจำ เป็นศักยภาพ พร้อมที่จะแสดงออกเมื่อโอกาสมาถึง (สัญญา) ทั้งหมดนี้ถูกรวมตัวกันเข้าโดยพลังอย่างหนึ่งทำให้เกิดแรงโน้มที่จะผลักดันให้มนุษย์กระทำการหรืองดกระทำการในสถานการณ์หนึ่ง ๆ พลังนี้คือ สังขาร
ศาสนาพุทธถือว่าขันธ์ทั้ง ๕ แต่ละขันธ์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่มีตัวตนหรืออัตตาที่เป็นเจ้าของ เช่น ร่างกายของคนก็ประกอบไปด้วยธาตุพื้นฐาน ๔ อย่าง แต่ละอย่างก็เปลี่ยนแปลง ดังนั้นร่างกายของมนุษย์ก็เปลี่ยนตลอดเวลา ส่วนที่เป็นทางจิต ๔ อย่างก็เปลี่ยนตลอดเวลาเหมือนกัน ดังนั้นตัวตนของแต่ละขันธ์ไม่มี และตัวตนที่เกิดจากการรวมตัวของขันธ์ทั้ง ๕ ก็ไม่มี ศาสนา-พุทธปฏิเสธสิ่งที่สมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่อาศัยสิ่งอื่น
เจตจำนงเสรี
ศาสนาพุทธเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีสาเหตุ ตามหลักที่ว่า“เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ” และกฎแห่งกรรมเป็นคำสอนหลักของศาสนาพุทธ มนุษย์เป็นผลของการกระทำของตน มนุษย์ จะต้องรับผลจากสิ่งที่ตนได้ทำไว้ สิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่วันนี้เป็นผลของอดีต ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าปัจจุบันเป็นผลของอดีต ปัจจุบันมีอะไรใหม่หรือไม่ ถ้าไม่มีอนาคตก็ต้องเป็นผลของอดีตด้วย เจตจำนงเสรีก็ไม่มี
ศาสนาพุทธเองเชื่อกฎแห่งกรรมคือความเป็นสาเหตุเป็นผล แต่ในเวลาเดียวกันก็เชื่อเรื่องเจตจำนงเสรี ดังที่ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเองคือการกระทำ บุคคลจงใจแล้วจึงกระทำการด้วยกายวาจา” เพราะหากกรรมเก่าเป็นตัวการเดียวและตัวการทั้งหมดที่ทำให้บุคคลลงมือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ความสำนึกที่ว่า “กิจนี้ควรทำ หรือว่ากิจนี้ไม่ควรทำ” ก็มีไม่ได้
ศาสนาพุทธถือว่าแม้อดีตจะเป็นตัวกำหนดปัจจุบัน แต่ปัจจุบันก็เปิดให้มีทางเลือก พระราชวรมุนี ได้เปรียบเทียบไว้ว่า คนที่เดินขึ้นตึก เมื่อถึงชั้นสามแล้วก็แน่นอนว่าการขึ้นมาถึงชั้นที่สามนั้นเกิดจากการที่ได้เดินขึ้นมาเมื่อสักครู่ แต่เมื่อถึงชั้นสามแล้วจะขับรถวิ่งเหมือนอย่างบนถนนย่อมไม่ได้ แต่จะเดินขึ้นต่อไปหรือไม่ หรือจะเดินลง หรือจะนั่งพัก ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะเลือกได้ มนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกแต่การเลือกย่อมมีขอบเขต ขอบเขตนั้นมาจากปัจจัยภายนอกก็ได้ มาจากกรรมเก่าก็ได้หรือรวมกันก็ได้
ญาณวิทยาแนวพุทธ
ลักษณะและบทบาทของความรู้
ตอนแรกนี้จะสำรวจทัศนะของศาสนาพุทธในเรื่อง ความรู้ โดยแยกประเด็นพิจารณา เป็น ๔ ประเด็น คือ
๑) จุดตั้งต้น
๒) ที่มาของความรู้
๓) ขอบเขตของความรู้
๔) บทบาทของความรู้ในชีวิตมนุษย์
จุดตั้งต้น
ศาสนาพุทธเห็นว่าไม่ว่าเราจะแสวงหาความรู้ด้วยวิธีใดก็ตาม ตัวมนุษย์เองเป็นผู้ใช้วิธีอันนั้น และเป็นผู้ประเมินวิธีการอันนั้น ดังนั้นหากเราไม่รู้จักตัวเองแล้ว ความรู้ที่แท้จริงย่อมมีได้ยาก
ศาสนาพุทธเห็นว่าในการแสวงหาความรู้ต้องเริ่มจากตัวเองจากจุดที่เรายืนอยู่ นั่นคือจากประสบ-การณ์ของเราเอง แต่ศาสนาพุทธมองมนุษย์ในฐานะเป็นบุคคล มิใช่เพียงเป็น “สัตว์ที่อาจรู้จักโลก” ได้ มนุษย์เหนือกว่าสัตว์โลกอื่น มิใช่เพราะควบคุมแต่ภายนอกได้ แต่เพราะควบคุมตัวเองได้ ดังนั้น ในการเริ่มสำรวจตัวเอง เราจะไม่ถามว่าเรารู้จักโลกได้แม่นยำ ถูกต้องเพียงใด แต่ประสบการณ์บอกเราว่ามนุษย์ทุกหนทุกแห่ง มีทุกข์ มีสุข มีความสมหวัง และความผิดหวัง มีความดิ้นรนและขัดแย้งภายในจิตใจ นี้คือข้อมูลที่ได้จากการสำรวจประสบการณ์ของตนเอง และความรู้ที่จะแสวงหาต่อไปก็เพื่อที่จะควบคุมสิ่งเหล่านี้
ที่มาของความรู้
ศาสนาพุทธบ่อเกิดของความจริงคือประสบการณ์ นี้เกิดจากข้อที่ว่าศาสนาพุทธเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเอง
วัตถุประสงค์ของการแสวงหาความรู้ของศาสนาพุทธว่า คือ การที่จะรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง (ยถาภูตัง)
ขอบเขตของความรู้
ศาสนาพุทธปฏิเสธที่จะพูดถึงปัญหาที่ทดสอบไม่ได้ด้วยประสบการณ์ พระพุทธองค์ก็ทรงปฏิเสธที่จะตอบปัญหาที่อยู่พ้นประสบการณ์ เช่น อัพยากตปัญหา ๑๐ ข้อ คือ
๑. โลกเที่ยงหรือ
๒. โลกไม่เที่ยงหรือ
๓. โลกมีที่สุดหรือ
๔. โลกไม่มีที่สุดหรือ
๕. ชีพเป็นสิ่งเดียวกับร่างกายหรือ
๖. ชีพไม่เป็นสิ่งเดียวกับร่างกายหรือ
๗. หลังตายแล้วสัตว์มีอยู่หรือ
๘. หลังตายแล้วสัตว์ไม่มีอยู่หรือ
๙. หลังตายแล้วสัตว์ทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่หรือ
๑๐. หลังตายแล้วสัตว์จะมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่หรือ
ปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าคำตอบจะออกมาในรูปใด อีกฝ่ายหนึ่งโต้แย้งได้เสมอเพราะไม่อาจชี้ให้ประจักษ์ชัดได้ว่าความจริงเป็นอย่างใด เนื่องจากอยู่พ้นขอบเขตของประสบการณ์
ศาสนาพุทธนั้น ประสบการณ์นอกจากจะหมายถึงการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสตามปกติแล้วยัง กินความถึงการรับรู้ในขั้นเหนือปกติด้วย
ดังนั้นมิใช่ว่าศาสนาพุทธจะไม่เชื่อว่ามีสิ่งที่อยู่พ้นประสาทสัมผัสธรรมดา เป็นแต่เพียงว่าสิ่งเหล่านี้อธิบายด้วยประสาทสัมผัสธรรมดาไม่ได้ อธิบายด้วยเหตุผล ตรรกะและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ แต่สิ่งนี้มี และมีผู้ประสบมาแล้วก็คือพระพุทธองค์ และพระอรหันต์ทั้งหลาย การจะรู้ได้ต้องรู้ได้ด้วยตนเอง สำหรับศาสนาพุทธความจริงขั้นสูงสุดนี้มิได้อยู่พ้นประสบการณ์ของมนุษย์ แต่อยู่พ้นโวหารและคำอธิบายของมนุษย์ เป็นสิ่งที่แต่ละคนจะต้องทดสอบด้วยตนเอง
บทบาทของความรู้ในชีวิตมนุษย์
มนุษย์แสวงหาความรู้เพื่ออะไร การแสวงหาความรู้ของศาสนาพุทธเริ่มจากการสำรวจตัวเองก็เพื่อจะเปลี่ยนตัวเอง ความรู้มิใช่มีไว้เพื่อรู้เฉย ๆ หรือเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็น ความรู้ต้องทำให้มนุษย์ดีขึ้น
สำหรับศาสนาพุทธ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับการกลายเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่เรารู้เป็นอันเดียวกัน
ทฤษฎีกับปฏิบัติจึงเป็นสิ่งแยกกันไม่ออก นั่นคือ ปัญญากับศีลต่างก็เกื้อกูลกันอยู่ตลอดเวลา
จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาคือสอนให้คนเป็นคนดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น ให้มีความสงบสุขเกิดขึ้นทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม
จุดหมายปลายทางอันสูงสุดของศาสนาพุทธ คือ นิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตของมนุษย์จะได้ประสบกับความสงบสุขที่แท้จริง
ในกาลามสูตร พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า การจะเชื่ออะไรแค่ไหนนั้น จะต้องทดลองพิสูจน์ด้วยตนเองโดยอาศัยสติปัญญาและเหตุผล แต่อย่าเชื่อโดยวิธีดังต่อไปนี้
๑) อย่าเชื่อโดยการฟังตามกันมา
๒) อย่าเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
๓) อย่าเชื่อด้วยการเล่าลือ
๔) อย่าเชื่อด้วยการอ้างคัมภีร์
๕) อย่าเชื่อโดยนึกคิดเอาเอง
๖) อย่าเชื่อโดยการคาดคะเนเอา
๗) อย่าเชื่อเพราะการตรึกตรอง
๘) อย่าเชื่อเพราะตรงกับความเห็นของตน
๙) อย่าเชื่อเพราะรูปลักษณ์น่าเชื่อ
๑๐) อย่าเชื่อเพราะท่านเป็นครูของเรา
และพระองค์ทรงสอนต่อไปว่า เมื่อใดที่เราอาศัยปัญญาทดลองด้วยตนเองแล้วเห็นว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่ดีมีคุณประโยชน์จึงค่อยเชื่อ ทรงสอนมิให้เชื่ออย่างงมงาย แต่เน้นการทดสอบและปฏิบัติ เมื่อทดลองได้ผลทางปฏิบัติแล้วจึงเชื่อ
ศาสนาพุทธสอนเรื่องศรัทธาเหมือนกัน แต่ศรัทธามิใช่วิธีสุดท้ายที่จะตัดสินว่า ความจริงคืออะไร ศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นเพียงเครื่องชักจูงให้คนเข้าไปทดสอบความจริง แต่ตัวตัดสินความจริงคือปัญญา ในคำสอนเรื่องมรรคมีองค์แปด อันเป็นหนทางที่จะพามนุษย์ไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นความจริงอันสูงสุดนั้น ไม่ปรากฏว่ามีศรัทธาอยู่ด้วย ในการสอนหลักธรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนนั้น หากในหลักธรรมใดมีศรัทธาอยู่จะต้องมีปัญญากำกับอยู่เสมอ เช่น พละ ๕ มี ศรัทธา วิริยะ
สติ สมาธิ ปัญญา ในหลักอริยทรัพย์มี ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา เป็นต้น
จริยศาสตร์แนวพุทธ
ปัญหาพื้นฐานทางจริยศาสตร์ ๒ ปัญหา ปัญหาแรกคือ ปัญหาที่ว่าอะไรควรเป็นจุดหมายปลายทางที่ประเสริฐสุดของชีวิต ปัญหาที่สอง คือ ปัญหาที่ว่าด้วยเราควรใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินการกระทำว่าอย่างไรดีอย่างไรชั่ว อย่างไรผิดอย่างไรถูก เราจะพิจารณาทัศนะของศาสนาพุทธในประเด็นทั้ง ๒ นี้
จุดหมายที่ประเสริฐสุดของชีวิต
จุดหมายของชีวิตตามทัศนะของศาสนาพุทธมองได้ ๒ ด้าน คือ ด้านลบ และด้านบวก ด้านลบคือการหลุดพ้นจากทุกข์ ด้านบวกคือการได้สัมผัสความสุข
ศาสนาพุทธก็สอนว่าความสุขเป็นสิ่งมีค่าของชีวิต
ความสุขตามนัยแห่งศาสนาพุทธมี ๓ ระดับคือ
๑) กามสุข
๒) ฌานสุข
๓) นิพพานสุข
๑) กามสุข
ความสุขที่เกิดจากกามสุขนี้เป็นเรื่องทางกายหรือทางวัตถุจึงเรียกว่า “กามสุข” และหากจะพูดใน วงกว้างอาจหมายรวมถึงความสุขทางสังคม เช่น เกียรติยศ ความอบอุ่น ไมตรีจิต ฯลฯ ด้วยทั้งหมดเป็นการเสพสุขจากสิ่งที่อยู่ในโลกภายนอกตัวมนุษย์ (คือวัตถุ สิ่งของ พืช สัตว์ และเพื่อนมนุษย์) การเสพสุขจากโลกภายนอกนี้หากไม่มีการยับยั้งชั่งใจแล้ว แทนที่จะเป็นสุขกลับเป็นทุกข์ การหมกมุ่นมัวเมาในความสุขแบบนี้จนเกินเลยไม่เพียงแต่จะทำให้ตัวเองไม่อยู่ในสภาพที่จะเสพสุขได้ต่อไปอีกเท่านั้น แต่ยังทำให้สังคมปั่นป่วน ทำให้เกิดแก่งแย่งการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม อาจเข้าถึงภาวะระส่ำระสายจนกระทั่งไม่มีใครได้โอกาสเสพสุขแบบนี้
ศาสนาพุทธสอนว่าการเสพกามสุขจะเป็นไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อมนุษย์มี “ศีล” เป็นหลักปฏิบัติ ศีลเบื้องต้นคือศีล ๕ ได้แก่ การไม่ทำลายชีวิต การไม่เอาของผู้อื่นโดยไม่มีสิทธิ การไม่พูดโกหก การไม่ผิดประเวณี และไม่เสพของมึนเมา ศีล ๕ นี้เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่จะทำให้การเสพกามสุขมีอุปสรรคน้อย และถ้าหากปฏิบัติตาม “ธรรมห้า” ด้วยก็ยิ่งจะทำให้อุปสรรคน้อยลงไปอีก ธรรมห้า ได้แก่ มีเมตตากรุณา หาเลี้ยงชีพในทางสุจริต ยับยั้งและควบคุมตนในทางกามารมณ์ มีความซื่อสัตย์ สุจริต และ มีสติอยู่เสมอไม่มัวเมาประมาท
๒) ฌานสุข
ฌาน แปลว่า เพ่ง ได้แก่ภาวะที่จิตบรรลุสมาธิถึงระดับหนึ่ง ฌานสุขเป็นแดนต่อแดนระหว่างกามสุขกับนิพพานอันเป็นความสุขสูงสุด ฌานสุข มิได้เกิดจากประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ได้เสพเสวยกับกามคุณทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) เป็นสุขที่ไม่มีทุกข์เจือปนเหมือนกามสุข ฌานสุขเกิดได้จากการบำเพ็ญเพียรทางจิตที่เรียกกันว่าการเจริญสมาธิ จิตที่เจริญสมาธิได้ถึงขั้นฌานย่อมหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาได้ชั่วคราว (ถ้าหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงก็เป็นนิพพาน) มีลักษณะสงบ ราบเรียบ กระจ่าง และมีพลังพร้อมที่จะบรรลุสัจธรรมขั้นสูงสุด
การบำเพ็ญเพียรทางจิตก่อนจะบรรลุฌานนั้น ต้องก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญ ๕ ประการ ได้เสียก่อน (เรียกอุปสรรคนี้ว่า นิวรณ์ ๕ คือ หนึ่ง กามฉันท์ ความอยากได้นั่นอยากได้นี่ สอง พยาบาท ความโกรธความแค้นเคือง สาม ถีนมิทธะ ความเซื่องซึม หงอยเหงา สี่ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน เดือดร้อนใจ ห้า วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจในผลที่จะเกิดจากการปฏิบัติของตน เมื่อละนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้แล้วจิตใจก็ จะปลอดโปร่ง เกิดความอิ่มใจขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับอิ่มกาย เป็นความสุขทางใจล้วน ๆ โดยที่ไม่ต้องอาศัย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสมาสนอง ท่านเปรียบคนที่ละนิวรณ์ ๕ ได้ว่า เหมือนคนหายจากความเจ็บป่วย มีเรี่ยวแรงดีขึ้นพร้อมที่จะปฏิบัติการเพื่อสัมผัสความสุขที่สูงขึ้น ฌานสุขนี่อาจเรียกได้ว่าเป็นสุขที่เกิดจากสมาธิเพราะเป็นผลของการที่ได้เจริญสมาธิถึงขั้นหนึ่ง
๓) นิพพานสุข
ศาสนาพุทธถือว่านิพพานเป็น “ความสุขขั้นสูงสุด” หรือ “บรมสุข” นิพพานเป็นประสบการณ์ ที่รู้ได้เฉพาะตน ผู้ที่บรรลุแล้วอาจเล่าให้คนอื่นฟังได้ แต่ผู้ฟังก็ไม่สามารถรู้เท่ากับผู้ที่ประสบมาแล้วได้ นิพพานคือความดับ ดับในที่นี้หมายถึง ตัณหาดับ หรืออุปาทานดับ บางครั้งพระพุทธองค์อธิบายไว้ว่านิพพาน คือ สภาพที่สิ้น ราคะ โทสะ โมหะ การที่บุคคลยังไม่สิ้นซึ่ง ราคะ โทสะ โมหะ ย่อมก่อให้เกิดความยึดมั่น ความยึดมั่นทำให้คนสร้างโลกโดยให้ความหมายและค่าแก่โลก นี่ก็คือการไม่เห็นโลกตามที่มันเป็นจริง นิพพานก็คือการเห็นโลกตามที่มันเป็นจริง มิใช่เห็นโลกตามที่เราอยากให้เป็น การควบคุมกิเลสตัณหาไว้ได้ จะทำให้คนเห็นโลกตามที่เป็นจริง
ผู้ใดรู้แจ้งเกี่ยวกับโลกทั้งปวง รู้โลกทั้งปวงตามความเป็นจริง
แยกออกไปจากโลกได้ ไม่มีกิเลสในโลก ควบคุม
อารมณ์ทั้งปวงได้ ปลดเปลื้องกิเลสทั้งมวลได้ ผู้นั้นถูกต้อง
นิพพานอันมีความสงบอย่างยิ่ง….
คำที่ว่า “แยกออกไปจากโลกได้” มิได้หมายความว่า ผู้บรรลุนิพพานต้องปิดตา ปิดหู ฯลฯ ไม่รับรู้โลกภายนอกเลย การรับรู้โลกภายนอกยังมีอยู่ แต่หมายถึงการรับรู้โดยปราศจากราคะ โทสะ โมหะ เช่น “เห็นรูปด้วยตาแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ แต่วางเฉยมีสติสัมปชัญญะ คือเห็นด้วยใจเป็นกลาง ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ความโกรธ ความโลภ ความหลง เกิดขึ้นเพราะคนยึดมั่นอยู่ในเรื่อง “อัตตา” การแยกตัวจากโลกก็คืออยู่ในโลกนี่เอง แต่ไม่ยึดมั่นในโลก
ภิกษุทั้งหลาย อุบลก็ดี ปทุมก็ดี เกิดในน้ำ
งอกงามในน้ำ ขึ้นพ้นจากน้ำ แต่น้ำไม่ติดฉันใด พระตถาคต
เกิดขึ้นแล้วในโลก เจริญในโลก แต่พิชิตโลก ไม่ถูกโลกฉาบทา
เหมือนกันฉันนั้น
สุขในนิพพานต่างกับกามสุขและฌานสุขตรงที่ว่า สุข ๒ อย่างหลังนั้นเป็น “สุขเวทนา”
คือเป็นความสุขที่มีต่ออะไรบางอย่าง มีอะไรบางอย่างเป็นตัวรับสนอง ตัวรับสนองนี้คืออารมณ์ ฌานสุขอาศัยธรรมารมณ์ กามสุขอาศัยอารมณ์ทุกอย่าง โดยเฉพาะกามคุณ ๕ แม้ว่าฌานสุขจะเป็นสุขที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุ แต่ก็ทำให้เกิดความยึดมั่นได้ จิตใจยังไม่บริสุทธิ์ทั้งสิ้นทีเดียว ส่วนสุขในนิพพานนั้นเป็นประสบการณ์ ที่ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยอารมณ์ เป็นความสุขประณีตมีความสมบูรณ์ในตัว มิใช่ความสุขที่เกิดจากการได้สนองความต้องการ มิใช่ความสุขที่ไปเติมความบกพร่องให้เต็ม แต่เป็นความสุขที่เกิดขึ้นเอง เป็นไปเอง เป็นประสบการณ์เพื่อประสบการณ์นั้นเอง มิใช่เป็นหนทางไปสู่อะไรอีก
การจะบรรลุนิพพานได้นั้นมีขั้นตอนตามลำดับ ๓ ขั้น คือ ศีล สมาธิและปัญญา ศีลนั้นทำ
ให้คนมีความสุขเบื้องต้นได้ แต่ศีลอย่างเดียวไม่อาจทำให้บรรลุนิพพานได้ ศีลเป็นเงื่อนไขจำเป็นของนิพพาน แต่มิใช่เงื่อนไขเพียงพอ คือ ปราศจากศีลแล้วการก้าวไปสู่นิพพานเป็นไปไม่ได้ แต่ศีลไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุนิพพาน ศีลช่วยให้จิตใจเป็นปกติพร้อมที่จะเจริญสมาธิ แต่สมาธิอย่างเดียวก็ไม่ทำให้บรรลุนิพพาน ให้ได้เพียงฌานสุขเท่านั้น ขั้นสุดท้ายที่จะทำให้บรรลุนิพพานคือ ปัญญา สมาธิเตรียมพร้อมให้แก่จิตใจที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่มันเป็นจริง คือ เห็นแจ้ง เรียกตามบาลีว่าวิปัสสนา
เกณฑ์ตัดสินการกระทำ
เกณฑ์ตัดสินการกระทำว่าอย่างไรควร อย่างไรไม่ควร อย่างไรดี อย่างไรชั่ว ของศาสนาพุทธกล่าวอย่างกว้าง ๆ ได้ว่า การกระทำดีคือการกระทำที่เกิดจากกุศลมูลคือ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ซึ่งทำให้จิตใจปลอดโปร่ง บริสุทธิ์ สงบ ไม่กระวนกระวาย การกระทำชั่ว คือ การกระทำที่เกิด
จากความโลภ ความโกรธ ความหลง อันทำให้จิตใจกระวนกระวาย เร่าร้อน ไม่ปลอดโปร่ง ไม่บริสุทธิ์ เกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์หลัก
ศาสนาพุทธเป็นสัมบูรณนิยมในแง่ที่ว่า กุศลมูล ๓ กับอกุศลมูล ๓ เป็นเกณฑ์ตัดสินการกระทำ และเกณฑ์นี้เป็นสิ่งตายตัวแน่นอน การกล่าวว่ากุศลมูล ๓ เป็นเกณฑ์ตัดสินการกระทำก็เหมือนกับกล่าวว่า นิพพานเป็นเกณฑ์ตัดสินการกระทำ การกระทำที่มุ่งไปสู่นิพพานก็ถือว่าเป็นการกระทำดี การกระทำที่พาห่างจากนิพพานก็เป็นการกระทำที่ไม่ดี
การกระทำที่ผิดนั้นย่อมผิดเสมอ แม้ว่าผู้กระทำจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตามว่าสิ่งที่ตนกำลังทำนั้นผิด ในมิลินทปัญหามีคำถามขึ้นมาว่าคนหนึ่งรู้ว่าทำอย่างไรเป็นบาป และบาปนั้นมีโทษอย่างไร อีกคน
ไม่รู้เลย ใครจะบาปมากกว่ากัน คำตอบก็คือ คนไม่รู้บาปมากกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลก เพราะคนที่ไม่รู้กฎหมายนั้นเมื่อทำผิดก็อาจได้รับการลดหย่อน แต่เรื่องนี้เทียบกับเรื่องกฎหมายของสังคมไม่ได้ต้องเทียบสภาวะของธรรมชาติ
ก้อนเหล็กที่เขาเผาไฟจนแดงโชน คนหนึ่งรู้ว่าเป็น
เหล็กแดง อีกคนหนึ่งไม่รู้ ถ้าจะให้คนทั้ง ๒ คนนี้หยิบก้อน
เหล็กแดง คนไหนจะหยิบได้เต็มมือและถูกความร้อนเผา
มากกว่ากัน
คนรู้จะหยิบได้สนิทหรือ ต่อคนไม่รู้จึงหยิบได้เต็มมือ
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องถูกความร้อนเผามากกว่าคนรู้
นั่นแลฉันใด….. ผู้ที่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรเป็นบาป และ
การกระทำนั้นมีโทษเพียงไร ย่อมไม่มีความตะขิดตะขวงใจ
อาจทำได้ตามอำเภอใจ แม้บาปหนัก ๆ ก็ทำได้โดยที่ตน
ไม่รู้ว่าการกระทำนั้น ๆ ตนจะต้องเป็นผู้รับผลอย่างสาหัส…
ด้วยเหตุนี้แลจึงว่าคนไม่รู้บาปมากกว่า
ตามศาสนาพุทธคนทำอะไรลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่ขึ้นอยู่กับความเห็นของบุคคลหรือของสังคม ผิดถูกเป็นเรื่องตายตัวแน่นอน
ในศาสนาพุทธ การกระทำของมนุษย์มีแรงจูงใจ ๒ ประการ ประการแรกคือ อกุศลมูล ๓ (โลภ โกรธ หลง) ประการที่ ๒ คือ กุศลมูล ๓ (ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง) การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูลก็คือ การกระทำที่มีความรู้สึกว่ามี “ตัวตน” ควบคุมอยู่ :
การกระทำใดที่ถูกนำไปโดยความโลภ เกิดจากความโลก
มีความโลภเป็นเหตุ มีความโลภเป็นบ่อเกิด สภาพแห่งการมีตัวตน
ของการกระทำนั้นย่อมเกิดขึ้น และการกระทำ นั้นก็บังเกิดผล
เมื่อบังเกิดผลแล้ว บุคคลย่อมเสวยผลของการกระทำนั้น ….
การกระทำใดที่ถูกนำไปโดยโทสะ…. การกระทำใดที่ถูกนำไปโดยโมหะ…
สภาพแห่งการมีตัวตนของการกระทำนั้นย่อมเกิดขึ้น…
โลภ โกรธ หลง ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวตน แรงจูงใจทั้ง ๓ นี้แยกไม่ออกจากตัวตน
กฎแห่งกรรม
ความหมายและความสำคัญของเรื่องกรรม
กรรมแปลตามศัพท์ว่า การกระทำหรือการงาน แต่ในทางธรรม หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาหรือการกระทำที่มีความจงใจดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “เจตะนาหัง ภิกขะเว กัมมัง วะทามิ” แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเอง เราเรียกว่า กรรม ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา ไม่มีความจงใจก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม
พระพุทธศาสนาบางครั้งได้ชื่อว่า “กัมมวาท” คือศาสนาที่สอนเรื่องกรรม แม้พระพุทธองค์ก็ได้พระนามว่า “กัมมวาที” คือผู้ทรงสอนเรื่องกรรม ฉะนั้น ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา หากยังไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ก็ยังไม่ได้ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ประเภทของกรรม
ก. จำแนกตามคุณภาพหรือตามมูลเหตุแห่งการกระทำมี ๒ อย่างคือ
๑) กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล การกระทำที่ดี ซึ่งกระทำจากมูลเหตุที่ดีที่เรียกว่า กุศลมูล คือ อโลภะ ความไม่โลภ อโทสะ ความไม่โกรธ หรือ อโมหะ ความไม่หลงงมงาย
๒) อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล การกระทำที่ไม่ดี ซึ่งกระทำจากมูลเหตุที่ชั่วที่เรียกว่า อกุศลมูล คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ หรือ โมหะ ความหลงงมงาย
ข. จำแนกตามทวาร คือทางที่แสดงออกของการกระทำ มี ๓ อย่าง คือ
๑) กายกรรม การกระทำทางกาย
๒) วจีกรรม การกระทำทางวาจา
๓) มโนกรรม การกระทำทางใจ
ค. กรรม ๑๒ ตามที่แสดงไว้ในอรรถกถาและฎีกาทั้งหลาย ดังนี้
หมวดที่ ๑ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล (โดยปากกาล)
๑) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันในภพนี้ คือกรรมดีชั่วที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงแรก กรรมนี้ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ไม่มีผลต่อไป
๒) อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า คือกรรมดีชั่วที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงสุดท้าย (ชวนจิตที่ ๗) กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้าก็กลายเป็นอโหสิกรรม
๓) อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป คือกรรมดีชั่วที่กระทำในชวนจิตที่ ๒ - ๖ แห่งชวนจิตหนึ่ง ๆ กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต เมื่อเลยจากภพหน้าไปแล้ว คือได้โอกาสเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น ไม่เป็นอโหสิกรรม ตราบเท่าที่ยังอยู่ในสังสารวัฎ
๔) อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล คือกรรมที่ไม่มีโอกาสที่จะให้ผลในเวลาที่จะออกผลได้ เมื่อผ่านล่วงเวลานั้นไปแล้ว ก็ไม่ให้ผลอีกต่อไป
หมวดที่ ๒ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่ (โดยกิจ)
๕) ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำให้เกิด สามารถให้เกิดวิบากเอง
๖) อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากเอง แต่จะทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม
๗) อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับชนกกรรม ทำหน้าที่บีบคั้นมิให้ผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมเป็นไปได้นาน
๘) อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมที่ตรงกันข้ามที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนกรรมที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบาก (ผล) ของกรรมอื่น แล้วเปิดช่องให้แก่วิบากของตน
หมวด ๓ จำแนกตามความแรงในการให้ผล (โดยปากทานปริยาย)
๙) ครุกกรรม กรรมหนักที่มีผลแรงมาก ฝ่ายดีได้แก่สมาบัติ ๘ ฝ่ายชั่วได้แก่ อนันตริยกรรม (กรรมหนัก) มีฆ่ามารดา เป็นต้น จะให้ผลก่อนและครอบงำกรรมอื่น ๆ เสีย
๑๐) พหุลกรรมหรืออาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน กระทำบ่อย ๆ สั่งสมจนเคยชิน เป็นนิสัย กรรมนี้ถ้าไม่มีครุกกรรมจึงจะให้ผล
๑๑) อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมที่ระลึกได้ในเวลาใกล้ตาย ถ้าไม่มีกรรม ๒ ข้อก่อนกรรมนี้ก็จะให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ
๑๒) กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่ากระทำ คือ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนา อย่างนั้น ๆ โดยตรง เป็นกรรมที่เบา ถ้าไม่มีกรรม ๓ ข้อก่อน กรรมนี้จึงจะให้ผล
การให้ผลของกรรม
คำกล่าวที่ชาวพุทธนิยมพูดเรื่องการให้ผลของกรรมคือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นี้มาจากพุทธศาสนสุภาษิต (สํ.ส.๕/๙๐๓, ขุ.ชา.๒๗/๒๙๔) ซึ่งนับว่าเป็นข้อความที่แสดงหลักกรรมได้อย่างกระทัดรัดชัดเจน ว่า
“ยาทิสัง วะปะเต พีชัง ตาทิสัง ละภะเต ผะลัง
กัลยาณะการี กัลยาณัง ปาปะการี จะ ปาปะกัง”
“หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำดีได้ดี ผู้ทำชั่วได้ชั่ว”
(ขุ.ชา.๒๗/๒๐๕๔)
“กรรมดีหรือชั่วทุกอย่างที่คนสั่งสมไว้ ย่อมมีผล ขึ้นชื่อว่า กรรม
แม้จะนิดหน่อย ที่จะว่างเปล่าไปเลย ย่อมไม่มี”
(ขุ.ชา. ๒๘/๘๖๔)
“กรรมไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมไม่สูญเปล่าเลย”
เกณฑ์ตัดสินกรรมดีหรือชั่ว
ก. เกณฑ์หลัก
ตัดสินด้วยพิจารณาจากมูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล ถือว่าเป็นกรรมดี หรือเป็นเจตนาที่เกิดจากอกุศลมูล ถือว่าเป็นกรรมชั่ว และพิจารณาตามสภาวะว่า เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ ส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพจิตช่วยให้กุศลธรรมเจริญงอกงามขึ้นถือว่าเป็นกรรมดี ถ้าบั่นทอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิตถือว่าเป็นกรรมชั่ว
ข. เกณฑ์ร่วม
๑) ใช้มโนธรรมคือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองพิจารณาว่า การที่กระทำนั้นตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ เสียความเคารพตนเองหรือไม่
๒) พิจารณาความยอมรับของวิญญูชนหรือนักปราชญ์ว่าท่านเหล่านั้นยอมรับชื่นชมสรรเสริญหรือตำหนิติเตียน
๓) พิจารณาลักษณะและผลของการกระทำที่มีต่อตนเองและผู้อื่นว่าเป็นการเบียดเบียนตนและ ผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่นหรือไม่
จริต ๖
ความทั่วไป
การปฏิบัติงานเนื่องกับคนอื่น เพื่อสมานสามัคคี สิ่งสำคัญคือการรู้จักจิตใจของกัน และอ่อนโยนผ่อนตามโดยเหมาะสม ฉะนั้นในบทนี้จะเสนอแนะสภาพจิตของบุคคลเฉพาะแต่ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติเนื่องกับคนอื่น
ข้อที่ควรสนใจในการปฏิบัติงานร่วมกันก็คือเรื่องจริตของจิต จริต หมายถึงพื้นเพของจิต หรือความต้องการของจิต ซึ่งถ้าแบ่งตามจริตแล้ว จิตของคนทั้งโลกนี้ มีอยู่ ๖ ประเภท คือ:-
๑. ราคจริต รักสวยรักงาม
๒. โทสจริต หงุดหงิด รีบร้อน
๓. โมหจริต เขลา ซึม
๔. สัทธาจริต บูชาความเชื่อ
๕. พุทธิจริต ชอบใช้ความรู้
๖. วิตกจริต กังวลมาก
คนทุกคน จะต้องมีจริตแรงไปทางใดทางหนึ่งใน ๖ ทางนี้ หมายความว่าคน ๆ เดียวอาจมีจริตหลายอย่าง แต่มีจริตอย่างหนึ่งเป็นเจ้าเรือน คือหนักไปทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ ใครมีจริตอย่างใดเป็นเจ้าเรือน เราเรียกว่าคนจริตนั้น เช่น เรียกว่า คนราคจริต คนโทสจริต คนโมหจริต ฯลฯ คนที่มีจริตอย่างใด เมื่อได้รับการปฏิบัติจากคนอื่นสอดคล้องกับจริตของตน เขาจะมีความพอใจมากเป็นพิเศษ
ลักษณะของจิตที่มีจริตแต่ละประเภท
๑. ราคจริต ชอบความสวยงาม เมื่อได้พบเห็นหรือได้ฟังสิ่งหรือเรื่องที่สวยงาม หรือดี จิตใจจะเบิกบาน ชุ่มชื่น และอ้อยอิ่งวนเวียนอยู่กับสิ่งนั้น
๒. โทสจริต ชอบความรวดเร็ว รีบร้อน ทำอะไรก็ต้องการเห็นผลโดยรวดเร็ว เด็ดขาด
๓. โมหจริต จิตมีความซึมเซา ยืดยาว เฉื่อยชา ใช้ความคิดไม่ปลอดโปร่ง
๔. สัทธาจริต บูชาความเชื่อ สนใจเป็นพิเศษกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนวิเศษ ของวิเศษ และทำอะไรด้วยความเชื่อมั่น
๕. พุทธิจริต ชอบใช้ความรู้ ชอบออกหัวคิด ชอบค้นคว้า และวิจัยข้อเท็จจริง
๖. วิตกจริต ชอบสร้างอารมณ์ขึ้นหลอกใจตัวเองให้วิตกกังวลอยู่เสมอ
คู่ของจริต
โปรดทราบว่า จริต ๖ อย่างนั้น เป็นจริตใหญ่ ๓ เป็นจริตรอง ๓ ใครมีจริตใหญ่อย่างใดแล้ว มักจะมีจริตรองอยู่ด้วยคือ :-
จริตใหญ่ จริตรอง
ราคจริต คู่ สัทธาจริต
โทสจริต คู่ พุทธิจริต
โมหจริต คู่ วิตกจริต
ท่านผู้ศึกษาจะต้องจำจริตที่เป็นคู่กันไว้ให้ได้ เพราะจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาและการดักใจคนอื่น ต่อไปเราจะเอ่ยชื่อถึงเฉพาะจริตใหญ่ ๓ จริตเท่านั้น
วิธีสังเกตจริต
ใครมีจริตอย่างใด สังเกตได้ ๕ ทาง คือ:-
๑. อิริยาบถ
๒. การทำงาน
๓. การกิน
๔. การดู
๕. นิสัยใจคอ
ทั้งนี้ต้องสังเกตการแสดงออกตามปรกติของผู้นั้นจริง ๆ ถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในปรกติแล้ว จะสังเกตให้แน่นอนไม่ได้ อาการไม่ปรกติดังกล่าวนี้ หมายถึงคนที่อยู่ในสภาพวิกลจริต หรือแสร้งทำหรือถูกสิ่งอื่นบังคับให้ต้องทำอย่างนั้น
คนจริตอย่างไหนมีการแสดงออกอย่างไร เชิญศึกษาจากตารางต่อไปนี้
ตารางแสดงวิธีสังเกตจริตโดยสังเขป
การปฏิบัติงานเนื่องกับคนอื่น จะเป็นการสนทนา การสอน การสั่งงานหรือการปกครองบังคับบัญชา ก็ตาม ถ้าพยายามกระทำให้สอดคล้องกับจริตของผู้ที่ตนเกี่ยวข้องนั้นได้ จะบังเกิดผลดีเป็นพิเศษเสมอ
การบำเพ็ญจิตภาวนา
การบำเพ็ญจิตภาวนา เป็นการฝึกจิตใจให้สงบ แน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันเป็นประโยชน์ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในสิ่งนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นการฝึกสติและสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาหรือความสามารถในการคิดพิจารณานั่นเอง
การฝึกสติและการฝึกสมาธิ
การฝึกสติ เป็นการฝึกควบคุมความคิดให้ระลึกอยู่เสมอว่าตนกำลังทำอะไร ทำเพื่ออะไร และทำอย่างไรจึงจะถูกต้องหรือสำเร็จ
การฝึกสมาธิ เป็นการฝึกควบคุมจิตใจให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น สติสัมปชัญญะกับสมาธิ เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันมาก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะจะระลึกในสิ่งที่ตนกำลังทำตลอดเวลา ก็ถือว่ากำลังจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนกำลังทำซึ่งก็คือมีสมาธินั่นเอง ในทำนองเดียวกันผู้ที่มีสมาธิก็ย่อมมีสติสัมปชัญญะด้วยเช่นเดียวกัน
วิปัสสนากรรมฐานคือวิธีการฝึกสติสัมปชัญญะ
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการศึกษาชีวิต เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการ ออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่า ชีวิตมันคืออะไรกันแน่ ปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามความเคยชินของมัน ปีแล้วปีเล่า มันมีแต่ความมืดบอด
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการตีปัญหาซับซ้อนของชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิต ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำมา
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทาสของความเคยชิน
ในตัวเรานั้น เรามีของดีที่มีคุณค่าอยู่แล้ว คือ สติ สัมปชัญญะ แต่เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่เป็นของมีคุณค่าแก่ชีวิตหาประมาณมิได้ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการระดมเอา สติ ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเราเอาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์
วิปัสสนากรรมฐาน คือการอัญเชิญ สติ ที่ถูกทอดทิ้งขึ้นมานั่งบัลลังก์ของชีวิต เมื่อ สติ ขึ้นมานั่งสู่บัลลังก์แล้ว จิตก็จะคลานเข้ามาหมอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้าสติ สติจะควบคุมจิตให้แส่ออกไป คบหาอารมณ์ต่าง ๆ ภายนอก ในที่สุดจิตก็จะค่อย ๆ คุ้นเคยกับการสงบอยู่กับอารมณ์เดียว เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว การรู้ตามความเป็นจริงก็เป็นผลติดตามมา เมื่อนั้นแหละเราก็จะทราบได้ว่าความทุกข์มันมาจากไหน เราจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละผลงานของ สติ ละ
ภายหลังจากได้ทุ่มเทสติสัมปชัญญะลงไปอย่างเต็มที่แล้ว จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับสัจจะแห่งสภาวะธรรมต่าง ๆ อันผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นอย่างซึ้งใจมาก่อน ผลงานอันมีค่าล้ำเลิศของสติสัมปชัญญะ จะทำให้เราเห็นอย่างแจ้งชัดว่า ความทุกข์ร้อนนานาประการนั้น มันไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเราทางช่องทวาร ๖ ช่อง ทวาร ๖ นั้นเป็นที่ต่อและบ่อเกิดสิ่งเหล่านี้คือ ขันธ์ ๕ จิต กิเลส
ช่องทวาร ๖ นี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า อายตนะ อายตนะมีภายใน ๖ ภายนอก ๖ ดังนี้ อายตนะภายใน มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะ ภายนอกมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (กายถูกต้องสัมผัส) ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดจากใจ) รวม ๑๒ อย่างนี้ มีหน้าที่ต่อกันเป็นคู่ ๆ คือ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับการสัมผัสถูกต้อง ใจคู่กับอารมณ์ที่เกิดกับใจ เมื่ออายตนะคู่ใดคู่หนึ่งต่อถึงกันเข้า จิตก็เกิดขึ้น ณ ที่นั้นเองและจะดับลงไป ณ ที่นั้นทันที จึงเห็นได้ว่า จิตไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การที่เราเห็นว่าจิตเป็นตัวเป็นตนนั้น ก็เพราะว่าการเกิดดับของจิตรวดเร็วมาก การเกิดดับของจิตเป็นสันตติคือ เกิดดับต่อเนื่องไม่ขาดสาย เราจึงไม่มีทางทราบได้ถึงความไม่มีตัวตนของจิต ต่อเมื่อเราทำการกำหนด รูป นาม เป็นอารมณ์ตามระบบวิปัสสนากรรมฐานทำการสำรวม สติ สัมปชัญญะอย่าง มั่นคง จนจิตตั้งมั่นดีแล้ว เราจึงจะรู้เห็นการเกิดดับของจิต รวมทั้งสภาวะธรรมต่าง ๆ ตามความเป็นจริง
การที่จิตเกิดทางอายตนะต่าง ๆ นั้น มันเป็นการทำงานร่วมกันของขันธ์ ๕ เช่น ตากระทบรูป เจตสิกต่าง ๆ ก็เกิดตามมาพร้อมกันคือ เวทนา เสวยอารมณ์สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ จำได้ว่ารูปอะไร สังขาร ทำหน้าที่ปรุงแต่งวิญญาณ รู้ว่ารูปนี้ ดี ไม่ดี หรือเฉย ๆ กิเลส ๆ ก็จะติดตามเข้ามาคือ ดีชอบเป็นโลภะ ไม่ดีไม่ชอบเป็นโทสะ เฉย ๆ ขาดสติกำหนดเป็นโมหะ อันนี้เองจะบันดาลให้อกุศลกรรมต่าง ๆ เกิดตามมา ความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ก็จะเกิด ณ ตรงนี้เอง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับจิตตามช่องทวารทั้ง ๖ เมื่อปฏิบัติได้ผล แก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าตัดต่ออายตนะทั้ง ๖ คู่นั้นไม่ให้ติดต่อกันได้โดยจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อตากระทบรูป ก็เห็นว่าสักแต่ว่าเป็นแค่รูปไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนบุคคลเราเขา ไม่ทำให้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจเกิดขึ้น รูปก็จะดับลงอยู่ ณ ตรงนั้นเอง ไม่ไหลเข้ามาสู่ภายในจิตได้ อกุศลกรรมทั้งหลายก็จะไม่ตามเข้ามา
สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นกิเลสไม่ให้เข้ามาทางอายตนะแล้ว ยังเพ่งเล็งอยู่ที่รูปกับนาม เมื่อเพ่งอยู่ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนามนั้น จักนำไปสู่การเห็นพระไตรลักษณ์คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตนของสังขาร หรืออัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น จะมีผลมากน้อยเพียงใด อยู่ที่หลักใหญ่ ๓ ประการ
๑. อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
๒. สติมา มีสติ
๓. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ อยู่กับรูปนามตลอดเวลาเป็นหลักสำคัญ นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีศรัทธาความเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้มีผลจริง ความมีศรัทธานี้เปรียบประดุจเมล็ดพืชที่สมบูรณ์ดีพร้อมที่จะงอกงามได้ทันทีที่นำไปปลูก ความเพียรประดุจน้ำที่พรมลงไปที่เมล็ดพืชนั้น เมื่อเมล็ดพืชได้น้ำพรมลงไปก็จะงอกงามสมบูรณ์ขึ้นทันที เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะได้ผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วย
การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะต้องเปรียบเทียบดูจิตใจของเรา ในระหว่าง ๒ วาระว่า ก่อนที่ยังไม่ปฏิบัติและหลังการปฏิบัติแล้ว วิเคราะห์ตัวเองว่า มีความแตกต่างกันประการใด
หมายเหตุ เรื่องของวิปัสสนากรรมฐานที่เขียนขึ้นดังต่อไปนี้ จะยึดถือเป็นตำราไม่ได้ ผู้เขียนเขียนขึ้นเป็นแนวปฏิบัติเท่านั้น โดยพยายามเขียนให้ง่ายแก่การศึกษาและปฏิบัติมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้เท่านั้นเอง
การละปลิโพธ
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จะต้องปฏิบัติให้ห่างไกลจากหมู่คณะ และปลิโพธ กังวลห่วงใยในทุกสิ่งทุกอย่างเสีย เพราะเป็นทางเดียว ทำคนเดียว สำเร็จคนเดียว แม้แต่ผู้สอนก็เป็นเพียงแนะนำชี้ทางในการปฏิบัติ และให้ความอุปถัมภ์อุปการะ ให้มีความสะดวกสบายเกี่ยวกับ ที่อยู่ อาหาร ยารักษาโรค และสถานที่ในการปฏิบัติตามสมควรเท่านั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องมีใจเป็นอิสระ วางจากพันธะทั้งปวง คือไม่มีปลิโพธ ๑๐ ประการ คือ
๑. ไม่ห่วงบ้านหรือห่วงวัด ๒. ไม่ห่วงสกุล
๓. ไม่ห่วงลาภ ๔. ไม่ห่วงหมู่คณะ
๕. ไม่ห่วงทำธุรกิจ ๖. ไม่ห่วงในการเดินทาง
๗. ไม่ห่วงญาติ ๘. ไม่ห่วงในโรค
๙. ไม่ห่วงในการเล่าเรียน ๑๐. ไม่ห่วงในการที่จะแสดงฤทธิ์
ประโยชน์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีประโยชน์มากมายเหลือที่จะนับประมาณได้ จะยกมาแสดงตามที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกสักเล็กน้อยดังนี้ คือ
๑. สัตตานัง วิสุทธิยา ทำกายวาจาใจ ของสรรพสัตว์ให้บริสุทธิ์หมดจด
๒. โสกะปะริเทวนัง สะมะติกกะมายะ ดับความเศร้าโศก ปริเทวนาการต่าง ๆ
๓. ทุกขะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมายะ ดับความทุกข์กาย ดับความทุกข์ใจ
๔. ญาณัสสะ อะธิคะมายะ เพื่อบรรลุมรรคผล
๕. นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง และยังมีอยู่อีกมากมาย เช่น
๑. ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
๒. ชื่อว่าเป็นผู้ได้ป้องกันภัยในอบายภูมิทั้งสี่
๓. ชื่อว่าได้บำเพ็ญไตรสิกขา
๔. ชื่อว่าได้เดินทางสายกลาง คือ มรรค ๘
๕. ชื่อว่าได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยการบูชาอย่างสูงสุด
๖.ชื่อว่าได้บำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอุปนิสัยปัจจัยไปในภายหน้า
๗. ชื่อว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามพระไตรปิฎกโดยแท้จริง
๘. ชื่อว่าเป็นผู้มีชีวิต ไม่เปล่าประโยชน์ทั้งสาม
๙. ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย อย่างถูกต้อง
๑๐. ชื่อว่าได้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณ ๑๖
๑๑. ชื่อว่าได้สั่งสมอริยทรัพย์ไว้ในภายใน
๑๒. ชื่อว่าเป็นผู้มาดีไปดีอยู่ดีกินดีไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา
๑๓. ชื่อว่าได้รักษาอมตมรดกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นอย่างดี
๑๔. ชื่อว่าได้ช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
๑๕. ชื่อว่าได้เป็นตัวอย่างอันดีงามแก่อนุชนรุ่นหลัง
๑๖. ชื่อว่าตนเองได้มีธนาคารบุญติดตัวไปทุกฝีก้าว
หลักพระพุทธศาสนา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากพระองค์ทรงตรัสรู้ได้ ๙ เดือน วันนั้นตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันที่พวกเราเรียกกันว่า วันมาฆบูชา พระองค์ทรงวางหลักสูตรการสอนให้พระอรหันตสาวกใช้เป็นหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีหลักใหญ่อยู่ ๓ ประการ คือ
๑. สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง - การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา - การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓. สะจิตตะปะริโยทะปะนัง - การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์
ละความชั่ว (ทุจริต ๑๐ ) อกุศลกรรมบถ
กายกรรม ๓ ๑. ฆ่าสัตว์ ๒. ลักทรัพย์ ๓. ประพฤติผิดในกาม
วจีกรรม ๔ ๑. พูดเท็จ ๒. พูดหยาบ ๓. พูดส่อเสียด ๔. พูดเพ้อเจ้อ
มโนกรรม ๓ ๑. โลภะ (โลภ) ๒. โทสะ (โกรธ) ๓. โมหะ (หลง)
ทำความดี บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
๑. การบริจาคทาน ๒. การรักษาศีล
๓. การเจริญภาวนา ๔. การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. การขวนขวายในกิจที่ชอบ ๖. การให้ส่วนบุญ
๗. การอนุโมทนาส่วนบุญ ๘. การฟังธรรม
๙. การแสดงธรรม ๑๐. การทำความเห็นให้ตรง
มโนกรรม (กิเลส) มี ๓ ระดับ คือ
โลภะ (โลภ)
โทสะ (โกรธ)
โมหะ (หลง)
การทำจิตให้บริสุทธิ์ต้องเจริญกรรมฐาน กรรมฐานมี ๒ อย่างคือ
๑. สมถกรรมฐานเป็นอุบายให้จิตสงบ ๒. วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายให้เกิดปัญญา
บริสุทธิ์ชั่วขณะ แบ่งอารมณ์ออกเป็น ทำให้จิตบริสุทธิ์ตลอดไป มีอารมณ์อยู่กับ
๔๐ อย่าง มี ๗ หมวด วิปัสสนาภูมิ ๖ อย่าง คือ
๑. กสิณ ๑๐ ๑. ขันธ์ ๕
๒. อสุภ ๑๐ ๒. อายตนะ ๑๒
๓. อนุสติ ๑๐ ๓. ธาตุ ๑๘
๔. พรหมวิหาร ๔ ๔. อินทรีย์ ๒๒
๕. อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ ๕. อริยสัจ ๔
๖. จตุธาตุววัฎฐาน ๑ ๖. ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
๗. อรูปธรรม ๔
กรรมฐาน ๒ อย่างนี้ต่างกันที่อารมณ์
สมถกรรมฐาน เอาบัญญัติเป็นอารมณ์ ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน เอารูปนามเป็นอารมณ์
วิธีสมาทานกรรมฐาน และ การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มาเข้ารับการอบรม จะต้องได้รับการสมาทานกรรมฐาน หรือ แสดงตนเป็นพุทธมามกะ อย่างใดอย่างหนึ่งก่อนปฏิบัติ
วิธีสมาทานกรรมฐาน
๑. ถวายสักการะต่อพระอาจารย์ผู้ให้กรรมฐาน
๒. จุด เทียน ธูป บูชาพระรัตนตรัย
๓. ถ้าเป็นพระ ให้แสดงอาบัติก่อน
๔. คฤหัสถ์ รับศีลก่อน
๕. มอบกายถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัยดังนี้
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิ ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอมอบกายถวายชีวิต ต่อพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๖. มอบกายถวายตัวต่อพระอาจารย์
อิมาหัง อาจริยะ อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิ ข้าแต่พระอาจารย์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายตัว ต่อครูบาอาจารย์ เพื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ขอพระกรรมฐาน
นิพพานัสสะ เม ภันเต สัจฉิกะระณัตถายะ กัมมัฏฐานัง เทหิ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้กรรมฐานแก่ข้าพเจ้า เพื่อทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลนิพพานต่อไป
แผ่เมตตา
อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าถึงสุข ปราศจากทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความลำบาก ไม่มีความเดือดร้อน ขอให้มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด
สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ ขอให้สัตว์ทั้งหลาย ทุกตัวตน ตลอดเทพบุตรเทพธิดาทุกพระองค์ พระภิกษุสามเณร และผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน ขอท่านจงมีความสุข ปราศจากทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความลำบาก ไม่มีความเดือดร้อน ขอให้มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด
เจริญมรณานุสสติ
อัทธุวัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเราไม่แน่นอน ความตายของเราแน่นอนเราต้องตายแน่ เพราะชีวิตของเรา มีความตายเป็นที่สุด นับว่าเป็นโชคอันดีแล้วที่เราได้เข้ามาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ โอกาสบัดนี้ ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา
ตั้งสัจจะอธิษฐาน และปฏิญาณตนต่อพระรัตนตรัยและครูบาอาจารย์
เยเนวะ ยันติ นิพพานัง พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก ได้ดำเนินไปสู่พระนิพพาน ด้วย หนทางเส้นนี้ ข้าพเจ้า ขอตั้งสัจจะอธิษฐาน ปฏิญาณตนต่อพระรัตนตรัย และครูบาอาจารย์ว่า ตั้งแต่บัดนี้ต่อไป ข้าพเจ้าจะตั้งอกตั้งใจ ประพฤติและปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุมรรคผล ดำเนินรอยตามพระองค์ท่าน
อิมายะ ธัมมานุธัมมะปะติปัตติยา ระตะนัตตะยัง ปูเชมิ ข้าพเจ้าขอบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการปฏิบัติธรรม สมควรแก่มรรคผลนิพพานนี้ ด้วยสัจจะวาจาที่กล่าวอ้างนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้บรรลุมรรคผลนิพพานด้วย เทอญ ฯ
สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เสร็จแล้วกราบ ๓ ครั้ง
การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ผู้ที่จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พึงปฏิบัติ ดังนี้
๑. ถวายสักการะต่อพระอาจารย์
๒. จุด เทียน ธูป บูชาพระรัตนตรัย
๓. รับศีล
๔. กล่าวแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ดังนี้
เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ พุทธมามะโกติ (มิกาติ) มัง ภันเต สังโฆ ธาเรตุ อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง สะระณัง คะตัง
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้วกับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นพุทธมามกะ (มามิกา) ในธรรมวินัย ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ธุระในพระศาสนา มี ๒ อย่าง คือ
๑. คันถธุระ
๒. วิปัสสนาธุระ
คันถธุระ ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนให้รู้เรื่องพระศาสนาและหลักศีลธรรม
วิปัสสนาธุระ ได้แก่ ธุระหรืองานอย่างสูงในพระศาสนา ซึ่งเป็นงานที่จะช่วยให้ผู้นับถือพระพุทธ-ศาสนาได้รู้จักดับทุกข์ออกจากตนมากน้อยตามควรแก่การปฏิบัติ ทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้พ้นทุกข์ตั้งแต่ทุกข์เล็กจนถึงทุกข์ใหญ่ เช่น การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และเป็นทางปฏิบัติที่มีอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
วิปัสสนาธุระ ส่วนมากเราเรียกกันว่า วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เมื่อกล่าวถึงกรรมฐาน ขอให้
ผู้ปฏิบัติแยกกรรมฐานออกเป็น ๒ ประเภทเสียก่อน การปฏิบัติจึงจะไม่ปะปนกัน กรรมฐาน ๒ ประเภท คือ
๑. สมถกรรมฐาน กรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายให้ใจสงบ คือ ใจที่อบรมในทางสมถะแล้วจะเกิดนิ่งและเกาะอยู่กับอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว อารมณ์ของสมถกรรมฐานนั้น แบ่งออกเป็น ๔๐ กอง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อรูปธรรม ๔
๒. วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายให้เรืองปัญญา คือเกิดปัญญาเห็นแจ้ง หมายความว่าเห็นปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ และเห็น มรรค ผล นิพพาน
การเรียนวิปัสสนากรรมฐานนั้นเรียนได้ ๒ อย่าง คือ
๑. เรียนอันดับ
๒. เรียนสันโดษ
การเรียนอันดับ คือการเรียนให้รู้จัก ขันธ์ ๕ ว่า ได้แก่อะไรบ้าง ย่อให้สั้นในทางปฏิบัติเหลือเท่าใด ได้แก่อะไร เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วอะไรจะเกิดตามมาอีก จะกำหนดตรงไหนจึง จะถูกขันธ์ ๕ เมื่อกำหนดถูกแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้างเป็นต้น นอกจากนี้ก็ต้องเรียนให้รู้เรื่องในอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ โดยละเอียดเสียก่อน เรียกว่าเรียนภาคปริยัติวิปัสสนาภูมินั่นเอง แล้วจึงจะลงมือปฏิบัติได้
การเรียนสันโดษคือการเรียนย่อ ๆ สั้น ๆ สอนเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติเท่านั้น เรียนชั่วโมงนี้ก็ปฏิบัติชั่วโมงนี้เลย เช่น สอนการเดินจงกรม สอนวิธีนั่งกำหนด สอนวิธีกำหนดเวทนา สอนวิธีกำหนดจิต แล้วลงมือปฏิบัติเลย
หลักใหญ่ในการปฏิบัติวิปัสสนาฯ มีหลักอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
๒. สติมา มีสติ คือระลึกอยู่เสมอว่าขณะนี้เราทำอะไร
๓. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ คือ ขณะทำอะไรอยู่นั้นต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
วิธีปฏิบัติ
๑. การเดินจงกรม ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลังมือขวาจับข้อมือซ้ายวางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่ปลายผม กำหนดว่า ยืนหนอ ช้า ๆ ๕ ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะกลับขึ้นกลับลงจนครบ ๕ ครั้ง แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรก คำว่ายืนจิตวาดมโนภาพร่างกายจากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือลงไปปลายเท้า กำหนดขึ้นคำว่า ยืน, จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือขึ้นไปปลายผม กำหนด กลับไป, กลับมา จนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกไปนอกกาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้าทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๔ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า ขวา ย่าง หนอ กำหนดในใจ คำว่า ขวา ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อมกัน ย่าง ต้องก้าวเท้าขวา ไปข้างหน้าช้าที่สุดเท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่า หนอ เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า ซ้าย ย่าง หนอ คงปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ ขวา ย่าง หนอ ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบเป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน เงยหน้าหลับตา กำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้งเหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า กลับ หนอ ๔ ครั้ง คำว่ากลับหนอครั้งที่หนึ่ง ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าหมุนตัวไปทางขวา ๙๐ องศา ครั้งที่ ๒ ลากเท้าซ้ายมาติดกับเท้าขวา ครั้งที่ ๓ ทำเหมือนครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ ขณะนี้จะอยู่ในท่ากลับหลังแล้วต่อไปกำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง ลืมตาก้มหน้าแล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ต้องการ
๒. การนั่ง กระทำต่อจากการเดินจงกรมอย่าให้ขาดตอนลง เมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนด ยืน หนอ อีก ๕ ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่าปล่อยมือหนอๆๆๆ ช้า ๆ จนกว่าจะลงสุด เวลานั่งค่อย ๆ ย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดตามอาการที่ทำไปจริง ๆ เช่น ย่อตัวหนอๆๆๆ เท้าพื้นหนอๆๆๆ คุกเข่าหนอๆๆๆ นั่งหนอๆๆๆ เป็นต้น
วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่สะดือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า พอง หนอ ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือ หลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบ หนอ ใจนึกกับท้องที่ยุบต้องทันกันอย่าให้ก่อนหรือหลังกัน ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่ พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้อง ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาทางหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบนท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด
เมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติแน่นอนจะต้องมีความอดทนเพื่อเป็นการสร้างขันติบารมีไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้วการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว
ในขณะที่นั่งหรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาความเจ็บปวด เมื่อย คัน ๆ เกิดขึ้น ให้หยุดเดินหรือหยุดกำหนดพองยุบให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่าปวดหนอ ๆ ๆ ๆ เจ็บหนอ ๆๆๆ เมื่อยหนอ ๆ ๆ ๆ คันหนอ ๆ ๆ ๆ เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ก็ให้กำหนดนั่งหรือเดิน ต่อไป
จิต เวลานั่งอยู่หรือเดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สิน หรือคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ นานา ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่ พร้อมกับกำหนดว่า คิดหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ ก็กำหนดเช่นกันว่า ดีใจหนอ ๆ ๆ ๆ เสียใจหนอ ๆ ๆ ๆ โกรธหนอ ๆ ๆ ๆ เป็นต้น
เวลานอน เวลานอนค่อย ๆ เอนตัวนอนพร้อมกับกำหนดตามไปว่านอนหนอๆๆๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับอยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติจับที่ท้อง
แล้วกำหนดว่า พอง หนอ ยุบ หนอ ต่อไปเรื่อย ๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่าจะหลับไป ตอนพอง หรือตอนยุบ
อิริยาบถต่าง ๆ การเดินไปในที่ต่าง ๆ การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหาร และการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้ปฏิบัติต้องมีสติกำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง คือ มีสติ สัมปชัญญะ เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
หมายเหตุ การเดินจงกรมนั้น เราทำการเดินได้ถึง ๖ ระยะ การเดินระยะต่อไปนั้นจะต้องเดิน ระยะที่ ๑ ให้ถูกต้องคือ ได้ปัจจุบันธรรมจริง ๆ จึงจะเพิ่มระยะต่อไปให้ตามผลของการปฏิบัติแต่ละบุคคล กำหนดเดินระยะต่าง ๆ ดังนี้
ท่าเดิน ระยะที่ ๑ ขวาย่างหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๒ ยกหนอ เหยียบหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๓ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๔ ยกซ่นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๕ ยกซ่นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๖ ยกซ่นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ
สรุปการกำหนดต่าง ๆ พอสังเขป ดังนี้
๑. ตาเห็นรูป จะหลับตาหรือลืมตาก็แล้วแต่ ให้ตั้งสติไว้ที่ตา กำหนดว่า เห็นหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้ ถ้าหลับตาอยู่ก็กำหนดไปจนกว่าภาพนั้นจะหายไป
๒. หูได้ยินเสียง ให้ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า เสียงหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกเสียงก็สักแต่ว่าเสียง ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๓. จมูกได้กลิ่น ตั้งสติไว้ที่จมูก กำหนดว่า กลิ่นหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ากลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๔. ลิ้นได้รส ตั้งสติไว้ที่ลิ้น กำหนดว่า รสหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ารสก็สักแต่ว่ารส ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๕. การถูกต้องสัมผัส ตั้งสติไว้ตรงที่สัมผัส กำหนดตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๖. ใจนึกคิดอารมณ์ ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า คิดหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าความนึกคิดจะหายไป
๗. อาการบางอย่างเกิดขึ้นกำหนดไม่ทัน หรือกำหนดไม่ถูกว่าจะกำหนดอย่างไร ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า รู้หนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการนั้นจะหาย
การที่เรากำหนดจิต และตั้งสติไว้เช่นนี้ เพราะเหตุว่าจิตของเราอยู่ใต้บังคับของความโลภ
ความโกรธ ความหลง เช่น ตา เห็น รูป ชอบใจเป็นโลภะ ไม่ชอบใจเป็นโทสะ ขาดสติไม่ได้กำหนดเป็นโมหะ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ก็เช่นเดียวกัน
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับตามอายตนะนั้น เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าตัดที่ต่อของอายตนะต่าง ๆ เหล่านั้นมิให้ติดต่อกันได้ คือว่าเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ทำความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งให้เกิดความพอใจหรือความไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฎ ให้เห็นและได้ยินนั้น รูป และเสียง ที่ได้เห็นและได้ยินนั้นก็จะดับไป เกิดและดับอยู่ที่นั้นเองไม่ไหลเข้ามาภายใน อกุศลธรรมความทุกข์ร้อนใจที่คอยจะติดตาม รูป เสียง และอายตนะภายนอกอื่น ๆ เข้ามาก็เข้าไม่ได้
สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นอกุศลธรรมและความทุกข์ร้อนใจที่จะเข้ามาทางอายตนะแล้ว สติเพ่งอยู่ที่ รูป นาม เมื่อเพ่งเล็งอยู่ก็ย่อมเห็นความเกิดดับของ รูป นาม นั้นจะนำไปสู่การเห็นพระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตนของสังขารหรือ อัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง
สติปัฎฐาน ๔
มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า เราจะปฏิบัติธรรมในแนวไหน หรือสำนักใดจึงจะเป็นการถูกต้องและ ได้ผล คำถามเช่นนี้เป็นคำถามที่ถูกต้องและไม่ควรถูกตำหนิว่าชอบเลือกนั่นเลือกนี่ ที่ถามก็เพื่อระวังไว้ ไม่ให้เดินทางผิด ทางปฏิบัติที่ถูกต้องคือปฏิบัติตามสติปัฎฐาน ๔
สติปัฎฐาน ๔ แปลให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือฐานที่ตั้งของสติ หรือ เหตุปัจจัย สำหรับปลูกสติให้เกิดขึ้นในฐานทั้ง ๔ คือ
๑. กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือการพิจารณากายจำแนกโดยละเอียดมี ๑๔ อย่าง คือ
๑. อัสสาสะปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าออก
๒. อิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน
๓. อิริยาบถย่อย การก้าวไปข้างหน้า ถอยไปทางหลัง คู้ขาเข้า เหยียดขาออก งอแขนเข้า เหยียดแขนออก การถ่ายหนัก ถ่ายเบา การกิน การดื่ม การเคี้ยว ฯลฯ คือการเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ
๔. ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย (อาการ ๓๒)
๕. การกำหนดร่างกายเป็นธาตุ ๔
๖. ป่าช้า ๙
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือการเจริญสติเอาเวทนาเป็นที่ตั้ง
เวทนา แปลว่าการเสวยอารมณ์มี ๓ อย่างคือ
๑. สุขเวทนา ๒. ทุกขเวทนา ๓. อุเบกขาเวทนา
เมื่อเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้สติสัมปชัญญะกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า เวทนานี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่ยินดียินร้าย ตัณหาก็จะไม่เกิดขึ้นและปล่อยวางเสียได้ เวทนานี้เมื่อเจริญให้มาก ๆ เป็นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว อาจทำให้ทุกขเวทนาลดน้อยลงหรือไม่มีอาการเลยก็เป็นได้ อย่างที่เรียกกันว่าสามารถแยก รูป นามออกจากกันได้ (เวทนาอย่างละเอียด ๙ อย่าง)
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน ได้แก่ การปลูกสติโดยเอาจิตเป็นอารมณ์หรือเป็นฐานที่ตั้งจิตนี้มี ๑๖ คือ
จิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน
จิตยิ่งใหญ่ (มหัคคตจิต) จิตไม่ยิ่งใหญ่ (อมหัคคตจิต)
จิตยิ่ง (สอุตตรจิต) จิตไม่ยิ่ง (อนุตตรจิต)
จิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้น
การทำวิปัสสนาให้มีสติพิจารณากำหนดให้เห็นว่า จิตนี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้ แน่นอน ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือมีสติพิจารณาธรรมทั้งหลายทั้งปวง คือ
๔.๑ นิวรณ์ คือรู้ชัดในขณะนั้นว่านิวรณ์ ๕ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร ให้รู้ชัดตามความเป็นจริง ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
๔.๒ ขันธ์ ๕ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ แต่ละอย่างคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร
๔.๓ อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่าง รู้ชัดในสังโยชน์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอายตนะนั้น ๆ รู้ชัดว่าสังโยชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร
๔.๔ โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นว่า โพชฌงค์ ๗ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจตนหรือไม่ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วเจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร
๔.๕ อริยสัจ ๔ คือ รู้ชัดอริยสัจ ๔ แต่ละอย่างตามความเป็นจริงว่าคืออะไร
สรุป ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน นี้ คือ จิต ที่คิดเป็น กุศล อกุศล และอัพยากฤต เท่านั้น ผู้ปฏิบัติสติปัฎฐาน ๔ ต้องทำความเข้าใจอารมณ์ ๔ ประการให้ถูกต้อง คือ
๑. กาย ทั่วร่างกายนี้ไม่มีอะไรสวยงามแม้แต่ส่วนเดียว ควรละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๒. เวทนา สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์นั้น แท้จริงแล้วมีแต่ทุกข์ แม้เป็นสุขก็เพียงปิดบังความทุกข์ไว้
๓. จิต คือความคิดนึก เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแปรผันไม่เที่ยงไม่คงทน
๔. ธรรม คืออารมณ์ที่เกิดกับจิต อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยดับไปอารมณ์นั้นก็ดับ ไปด้วย ไม่มีสิ่งเป็นอัตตาใด ๆ เลย
ภาพแสดงสติปัฎฐาน ๔
สติปัฎฐาน ๔ ทั้ง ๔ ข้อ มีการเกี่ยวโยงกันตลอด ผู้ปฏิบัติชำนาญแล้ว จะปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ เพราะทุกข้อเมื่อปฏิบัติแล้วก็สามารถรู้ รูป นาม เกิด ดับ เห็นไตรลักษณ์ด้วยกันทั้งสิ้น
อานิสงส์ในการเดินจงกรม
๑. อดทนต่อการเดินทางไกล
๒. อดทนต่อความเพียร
๓. มีอาพาธน้อย
๔. ย่อยอาหารได้ดี
๕. สมาธิที่ได้ขณะเดินตั้งอยู่ได้นาน
----------------------------------
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น