หลักสูตรชั้นนายร้อย
วิชาการศาสนาและศีลธรรม
๑. พระพุทธศาสนากับความมั่นคงของชาติ
ความมั่นคงของชาติเป็นพื้นฐานของความสุข ความเจริญในทุกๆด้าน ดุจคนที่มีสุขภาพร่างกายดี ย่อมนำมาซึ่งความสุขความเจริญอื่นๆ
องค์ประกอบแห่งความมั่นคงของชาติ
(๑) เศรษฐกิจ
(๒) สังคม
(๓) การเมืองการปกครอง
(๔) การทหาร
ศาสนากับความมั่นคงของชาติ
การสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติบ้านเมืองนั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่คนในชาตินั้น ๆ ว่า จะมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ประเทศใดประชาชนของชาติมีประสิทธิภาพ การสร้างความเจริญมั่นคง ก็ย่อมเป็นไปได้โดยง่าย ตรงกันข้าม ถ้าคนในชาติขาดคุณธรรม การพัฒนาให้เกิดความมั่นคง ก็ย่อมจะเป็นไปได้ โดยยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย
ศาสนาเป็นเรื่องของคุณธรรม หรืออุดมการณ์ เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใด ย่อมกล่อมเกลา หล่อหลอมให้บุคคลผู้นั้นเป็นคนมีคุณภาพ
หลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่เกื้อกูลต่อการสร้างความมั่นคงของชาติมีหลายประการ จะนำมากล่าวเฉพาะที่สำคัญ ๆ บางประการดังต่อไปนี้
ธรรมเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ก. ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประโยชน์ในปัจจุบัน (การสร้างตัว)
พระพุทธศาสนาสอนให้คนพึ่งตนเอง ความสำเร็จทุกอย่าง ย่อมเป็นผลจากการกระทำของแต่ละคน มิใช่ได้ด้วยการอ้อนวอนผู้ศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนให้ประทานลงมา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ คนสร้างตัวให้สำเร็จ ผู้ที่สร้างตัวเองให้เป็นหลักฐานมั่นคงไม่ได้ ย่อมยากที่จะปฏิบัติธรรมะชั้นสูงขึ้นไปให้ได้ผลดี นอกจากไม่สามารถจะนำตัวเอง และครอบครัวให้ประสบความสุขแล้ว ยังเป็นภาระ ของสังคมอีกด้วย
การสร้างตัว การสร้างตัว คือ การจัดการเศรษฐกิจให้กับตัวเอง ทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักไว้ ๔ อย่าง คือ
๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ถึงพร้อมด้วยความหมั่น จะศึกษา
เล่าเรียน หรือประกอบอาชีพใด ๆ ก็ตาม ความหมั่นขยันนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะให้ได้รับผลสำเร็จ
เราต้องการทรัพย์ ต้องการความสุข ตลอดจนความเคารพรักจากผู้อื่น เราจะได้สิ่งเหล่านั้นมาด้วย
ความหมั่นขยัน
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา เช่น รักษาทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้สูญหาย ประหยัดใช้ให้เกิดประโยชน์ รักษาหน้าที่ของตนมิให้เสื่อมเสีย มีทรัพย์แล้วต้องรักษาทรัพย์ที่มีไว้
ทรัพย์จึงจะมากขึ้นไปได้ มีวิชาแล้วต้องรักษา ด้วยวิธีนำออกใช้ให้เหมาะ วิชาจึงจะรุ่งเรือง
๓. กัลยาณมิตตตา ความมีคนดีเป็นมิตร คนที่มีทรัพย์และรักษาไว้ได้ แต่ขาดเพื่อน
ก็คับแคบ มีเพื่อนไม่ดี ก็ทำให้เสียตัว เสียความประพฤติ และเสียทรัพย์สมบัติได้ แต่ถ้ามีเพื่อนดี ก็จะเป็นการสนับสนุนให้อาชีพรุ่งโรจน์ได้ ทั้งยังคอยป้องกันช่วยเหลือในยามตกทุกข์ได้ยากอีกด้วย ๔. สมชีวิตา การครองชีพเหมาะสม คือใช้จ่ายตามควรแก่รายได้ ไม่ฟุ่มเฟือยหรือ
ฝืดเคืองเกินไป คนจ่ายทรัพย์เกินกำลัง หรือไม่จำเป็น แต่ยังขืนจ่าย เรียกว่า ฟุ่มเฟือย เป็นสาเหตุให้เกิดหนี้สินและทุจริต คนที่ทนอด ทนหิว หรือจำเป็นแล้วไม่จ่าย เป็นการฝืดเคืองเรียกว่า ตระหนี่
ผู้ประหยัดทรัพย์ ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นและสมควร ทำให้เกิดผลคุ้มค่าของเงินที่จ่ายไป ชื่อว่าเป็น
ผู้ครองชีวิตเหมาะสม
ผู้ประพฤติหลักธรรมการสร้างตัวทั้ง ๔ นี้ให้เต็มที่ ย่อมสร้างตัวได้สำเร็จ แม้ฐานะทางการศึกษา และทางสังคมของแต่ละคนจะแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม หลักธรรม ๔ ข้อนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถสร้างตัวได้ตามฐานะนั้น ๆ ถ้าถือคติว่า “สร้างทุกอย่างที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ รักษาทุกอย่างที่จะรักษาไว้ได้ เสียสละทุกอย่างที่จะเสียสละได้” ก็ย่อมเป็นบุคคลที่สร้างตนได้อย่างสมบูรณ์แท้
ข. หลักความสุขของผู้ครองเรือน
(๑) สุขเกิดแต่การมีทรัพย์
(๒) สุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์
(๓) สุขเกิดแต่การไม่เป็นหนี้
(๔) สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ
ค. หลักการใช้จ่ายทรัพย์
(๑) เลี้ยงตัวบิดามารดา บุตร ภรรยาและคนอาศัยให้เป็นสุข
(๒) เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข
(๓) บำบัดอันตรายที่เกิดขึ้นแต่เหตุต่าง ๆ
(๔) ทำพลีกรรม ( การเสียสละ ) ๕ อย่าง คือ
ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
อิติพลี ต้อนรับแขก
ปุพพเปตพลี อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ
ราชพลี บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น
เทวดาพลี ถวายเทวดา คือ สักการะ บำรุง หรือ ทำบุญอุทิศ สิ่งที่เคารพบูชาตามความเชื่อถือ
(๕) อุปถัมภ์บำรุงสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี
ง. หลักการรักษาทรัพย์สมบัติ
(ก) เว้นอบายมุข ๖
(ข) ปฏิบัติตามหลักของตระกูลที่มั่นคง
ก) อบายมุข ๖
(๑) ติดสุราและของมึนเมา
(๒) ชอบเที่ยวกลางคืน
(๓) ชอบเที่ยวดูการละเล่น
(๔) ติดเล่นการพนัน
(๕) คบคนชั่วเป็นมิตร
(๖) เกียจคร้านทำการงาน
ข) หลักการของตระกูลที่ตั้งมั่น
(๑) ของหายของหมดรู้จักหามาไว้
(๒) ของเก่าชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม
(๓) รู้จักประมาณในการกินการใช้
(๔) ตั้งผู้มีศีลธรรมให้รับผิดชอบครอบครัว
ธรรมะเพื่อความมั่นคงทางสังคม
ก. เบญจศีล
เบญจศีล หมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับละเว้นการทำความชั่ว ๕ ประการ เพราะคนที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความดีอย่างสมบูรณ์นั้น นอกจากจะละเว้นการทำความชั่วแล้วยังต้องกระทำคุณความดีด้วย ศีลธรรม คือข้อปฏิบัติเพื่อฝึกหัดกล่อมเกลานิสัยจิตใจของคนให้ประณีต มีมากมายหลายประการ แต่เมื่อกล่าวถึงศีลธรรมพื้นฐานที่สมควรจะปลูกฝังให้เกิดมีก่อนหลักธรรมอื่น ๆ มี ๒ ประการคือ เบญจศีลและเบญจธรรม ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่คนควรยึดถือทำตาม เพื่อความสงบสุขของชีวิตและสังคมโดยส่วนรวม
หลักแห่งพระพุทธโอวาทคือหลักการที่เราจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา มี ๓ ข้อ ในหลักทั้ง ๓ ข้อนี้ ถ้าพิจารณาถึงงานที่ทำก็มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ
๑. เว้นจากการทำคามชั่ว
๒. บำเพ็ญคุณความดี
ความชั่วเป็นข้อควรเว้นเป็นเบื้องต้น คือ การทำผิดศีลห้า ส่วนคุณความดีที่ควรบำเพ็ญ คือธรรม ในที่นี้ท่านแสดงไว้ ๕ ข้อ คู่กับศีล ศีล ๕ เรียกว่า เบญจศีล และธรรม ๕ เรียกว่า เบญจธรรม
เบญจศีล หรือ ศีล ๕ ประการ ในบางแห่ง ท่านเรียกศีลห้าว่า นิจศีล คือเป็นศีลที่ทุกคนควรรักษาเป็นนิจคือ
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ คือ ละเว้นการฆ่า การสังหาร ไม่ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย ทั้งนี้รวมถึงการไม่ทำร้ายร่างกาย การทรมาน การใช้แรงงานของคน และสัตว์จนเกินกำลังความสามารถด้วย
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ คือ ละเว้นการลักขโมย เบียดเบียนแย่งชิง ไม่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน ทั้งนี้รวมถึงการไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้มาเป็นของตนด้วย ไม่ว่าจะเป็นโดยวิธีการหลอกลวง ฉ้อโกง เบียดบัง ยักยอก ตลอดจนการทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบ
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการผิดประเวณี คือ ละเว้นประพฤติผิดในกาม ไม่ประทุษร้ายต่อของรักของหวงแหน อันเป็นการทำลายเกียรติภูมิและจิตใจ ตลอดจนทำวงศ์ตระกูลเขาให้สับสน หมายถึง การไม่ไปยุ่งเกี่ยวทางเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายที่มีคู่ครองแล้ว ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และผู้ที่กฎหมายคุ้มครอง
๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการกล่าวเท็จ คือ ละเว้นจากการพูดเท็จโกหกหลอกลวงประทุษร้ายเขาหรือประโยชน์สุขของเขาด้วยวาจา หมายถึง การไม่มีเจตนาที่จะบิดเบือนความจริงทุกอย่าง เช่น ไม่พูดเล่นสำนวนให้คนเข้าใจผิด ไม่อวดอ้างตนเอง ไม่พูดเกินความจริง หรือไม่พูดน้อยกว่าที่เป็นจริง เป็นต้น
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือไม่เสพเครื่องดองของเมาสิ่งเสพติด อันเป็นเหตุให้เกิดความประมาทมัวเมา ก่อความฉิบหาย เสียหายผิดพลาดเพราะขาดสติ หมายถึง ละเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้ตนเองครองสติไม่อยู่ เช่น เหล้า เบียร์ น้ำตาลเมา และรวมถึงละเว้นการเสพสิ่งเสพติดทั้งหลายด้วย ไม่ว่าจะเป็น ยาบ้า บุหรี่ ฝิ่น กัญชา เฮโรอีน เป็นต้น
ความหมายของศีล
คำว่า ศีล แปลได้มากความหมาย ๆ หนึ่งแปลว่า ปรกติ ที่ “รักษาศีล” ก็คือตั้งใจรักษาปรกติของตนนั่นเอง ต้องทำความเข้าใจเรื่องปรกติก่อน แล้วจะเข้าใจเรื่องรักษาศีลได้ดีขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีความปรกติในตนประจำอยู่ทั้งนั้น ดังที่จะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
ดวงอาทิตย์ ขึ้นทางทิศตะวันออกเวลาเช้า ส่องแสงสว่างอยู่ตลอดวัน แล้วหายลับไป ทางทิศตะวันตกในเวลาเย็น การขึ้น การส่องแสง และการหายลับไปอย่างนี้ เป็นปรกติของดวงอาทิตย์ เพราะดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างนี้อยู่ทุกวี่ทุกวัน ถ้าดวงอาทิตย์เกิดมีอันเป็นไปอย่างอื่นนอกจากนี้ ก็เรียกว่าผิดปรกติ เช่น กลางวันเคยส่องแสงกลับไม่ส่องแสง อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า ผิดปรกติ
การรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อ นั้น การรักษาปรกติของตนนั่นเอง ลองยกมาพิจารณาดูว่า ข้อห้ามทั้ง ๕ ข้อ ตรงกันกับปรกติของคนใช่หรือไม่ ขอให้พิจารณาทีละข้อดังต่อไปนี้
๑. การฆ่ากับการไม่ฆ่า อย่างไหนเป็นปรกติของคน แน่นอน ปรกติของคนต้องไม่ ฆ่ากัน อย่างที่เราอยู่ในลักษณะนี้แหละ ไม่ใช่ว่าคนเราจะต้องฆ่ากันอยู่เรื่อย ถ้าการฆ่ากันเป็นปรกติ ของคน ตัวเราเองก็จะถูกคนอื่นฆ่าไปนานแล้ว เท่านี้ก็เห็นได้แล้วว่า ปรกติของคนต้องไม่ฆ่ากัน ส่วนการฆ่าเป็นการทำผิดปรกติ โดยนัยนี้ การรักษาศีลข้อที่ ๑ คือ ตั้งใจไม่ฆ่า ก็คือตั้งใจอยู่ในปรกติเดิมนั่นเอง
๒. การขโมยกับการไม่ขโมย อย่างไหนเป็นปรกติของคน การไม่ขโมยนั่นแหละ เป็นปรกติ ปรกติของคนต้องทำมาหากิน ไม่ใช่แย่งกันกินโกงกันกิน ไม่เหมือนไก่ ไก่นั้น ถ้าหากินด้วยกันตั้งแต่สองตัวขึ้นไป มันต้องแย่งกันกิน ตัวหนึ่งคุ้ยดินหาอาหาร อีกตัวหนึ่งขโมยจิกกิน ประเดี๋ยวเดียว ตัวคุ้ยก็ตีตัวขโมย ปรกติของไก่เป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนปรกติของคน เราเป็นคนจะต้องอยู่ในปรกติของคน ถ้าใครคิดแย่งกันกิน ขโมยกันกิน ก็ผิดปรกติของคน แต่ไพล่ไปอยู่ในปรกติของไก่ การรักษาศีลข้อที่ ๒ คือ ตั้งใจไม่ขโมยของของคนอื่น ที่แท้ ก็คืออยู่ในปรกติเดิมของตนนั่นเอง
๓. เกี่ยวกับประเวณี ปรกติของคนย่อมหวงแหนประเวณี และเห็นอกเห็นใจคนอื่นในเรื่องนี้ ไม่เหมือนพวกเดรัจฉานที่ส้องเสพสำส่อน เพราะปรกติของเดรัจฉานเป็นอย่างนั้น เป็นความจริงใช่หรือไม่ มนุษย์เราก็จึงต้องอยู่ในปรกติของคน คือไม่ล่วงเกินประเวณี การรักษาศีลข้อที่ ๓ จึงเป็น การตั้งอยู่ในปรกติของตนอีกเหมือนกัน
๔. เกี่ยวกับการกล่าวเจรจา ตามปรกติ เรากล่าวความจริงกันเป็นพื้น ไม่ใช่โกหกกันเรื่อยไป เพราะฉะนั้น การรักษาศีลข้อที่ ๔ คือ ตั้งใจงดเว้นการกล่าวคำเท็จ ที่แท้ ก็คืออยู่ในปรกติเดิมของตนนั่นเอง
๕. เกี่ยวกับการดื่มสุรา คนเราไม่ใช่ว่าจะต้องดื่มสุราอยู่เรื่อยอย่างนั้นก็หาไม่ เพราะแม้คนที่ติดสุราขนาดไหนก็คงทำไม่ได้ ใครขืนทำก็ตาย ปรกติของคนคือดื่มน้ำบริสุทธิ์ ไม่ใช่ดื่มสุรา ส่วนการดื่มสุรานั้น เป็นการทำผิดปรกติ ฉะนั้น การรักษาศีลข้อที่ ๕ คือเว้นจากการดื่มสุรา ก็เป็นการอยู่ในปรกติเดิมของตนอีกนั่นแหละ
ศีลวัตร
บางทีอาจจะสงสัยกันว่า ที่ว่า การรักษาศีล เป็นการรักษาปรกติ อยู่ในปรกติเดิม แต่เหตุไฉนศีล ๘ ศีล ๑๐ จึงห้ามในสิ่งที่เป็นปรกติอยู่แล้ว เช่น ห้ามเสพเมถุน และห้ามรับประทานอาหารเย็น เพราะปรกติของมนุษย์ต้องเสพกาม และต้องกินอาหาร จะไม่ค้านกับที่อธิบายมาแล้วหรือ ?
ขอชี้แจงว่า ศีล ที่แปลว่ารักษาปรกติ นั้น มุ่งถึงศีล ๕ โดยตรงเท่านั้น ส่วนศีลชั้นสูง สูงกว่าศีล ๕ ขึ้นไป มีลักษณะและความมุ่งหมายต่างจากศีลห้า เข้าลักษณะเป็น “วัตร” นักศึกษาคงจะเคยได้ยินคำว่า “ศีลวัตร” หรือ “ศีลพรต” หรือคำว่า “บำเพ็ญพรต” คำว่า พรต กับคำว่า วัตร เป็นคำเดียวกัน หมายถึงข้อปฏิบัติเพื่อฝึกฝนตนเอง ให้สามารถถอนใจออกจากกามารมณ์ได้ทีละน้อย ๆ เป็นทางนำไปสู่การละกิเลสได้เด็ดขาดต่อไป ข้อปฏิบัติในขั้นวัตร เป็นการฝืนปรกติของคนนั้นถูกแล้ว ยิ่งวัตรชั้นสูง ชั้นพระภิกษุ ยิ่งฝืนปรกติเอามากทีเดียว
ผลการรักษาศีล
ผลของการรักษาศีล เราจะแยกพิจารณาเป็น ๓ ลักษณะคือ
๑. ผลทางส่วนตัว การรักษาศีล มีความมุ่งหมายปรากฏชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการเว้น จากการกระทำที่ไม่ดี ทั้งนี้ หมายความว่า การรักษาศีล เป็นการป้องกันตัวเราไว้ไม่ให้เสื่อมเสียลงไป ข้อนี้เป็นเหตุผลตรงตัว เมื่อท่านศึกษารายละเอียดของศีลแต่ละข้อแล้ว ยิ่งจะเห็นได้ชัดว่า การรักษาศีล เป็นการป้องกันตัวมิให้เสื่อมเสียอย่างดียิ่ง เป็นการรักษาพื้นฐานของชีวิตเพื่อความเจริญแก่ส่วนตน โดยเฉพาะ และมีผลต่อสังคมโดยรวมอีกต่างหาก ซึ่งในที่นี้จะได้แสดงถึงพื้น(ฐาน) ของคนและส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องต่อไปดังนี้
พื้นของคน
การรักษาศีล เป็นการปรับพื้นตัวของผู้รักษาศีลนั้นเองให้เป็นคนมีพื้นดี เหมาะที่จะสร้างความดีความเจริญแก่คนส่วนรวมต่อไป
พื้น เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่คนไม่ค่อยสนใจ การจะทำอะไรทุกอย่าง ต้องพิจารณาถึง พื้นเดิมของสิ่งนั้นก่อน ต้องทำพื้นให้ดี สิ่งที่ทำนั้นจึงจะเด่นดีขึ้น อย่างเวลาเขียนรูป ก่อนที่จะวาดรูป ลงไป ผู้เขียนต้องลงสีพื้นก่อน จะให้พื้นเป็นสีอะไร ต้องเลือกให้เหมาะ ๆ แล้วก็ลงสีพื้น ถ้าพื้นไม่เด่น รูปก็ไม่เด่น ถึงการเขียนหนังสือก็เหมือนกัน ต้องใช้พื้นกระดาษที่เขียนได้สะอาดเรียบร้อยจึงจะดี ถึงคน ผู้มีลายมือดี ถ้าเขียนลงบนพื้นเลอะเทอะเปรอะเปื้อน คุณค่าของหนังสือก็ดีไม่ถึงขนาด ถนนลาดยาง หรือถนนคอนกรีตที่เราสัญจรไปมาอยู่นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำ นายช่างต้องลงพื้นให้ดีเสียก่อน ถ้าพื้นไม่ดี ถ้าทำกันสักแต่ว่าสุกเอาเผากิน ไม่ช้าก็ทรุด ตึกรามใหญ่ ๆ โต ๆ ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปก็เหมือนกัน พื้นนั้นสำคัญมาก ต้องตอกเสาเข็มลงรากให้แข็งแรง ไม่เช่นนั้นจะทรุด และถ้าลงได้ทรุดแล้ว จะซ่อมยากลำบากลำบนจริง ๆ ให้ฝาหรือหลังคารั่วเสียอีก ดูเหมือนจะดีกว่าพื้นทรุด เพราะซ่อมง่ายกว่า ลงทุนน้อยกว่า
คนเราก็มีลักษณะเหมือนถนนหนทาง หรืออาคารบ้านเรือน ดังกล่าวแล้ว ถ้าพื้นดี ก็ดี ถ้าพื้นเสีย ก็เสียหาย คนพื้นดี ทำอะไรก็ดีขึ้น ไม่ว่าจะเล่าเรียน หรือเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นพ่อค้า ชาวนา ชาวสวน จนกระทั่งบวชเป็นพระสงฆ์ ก็มีความเจริญก้าวหน้า ที่เรียกว่าทำขึ้น ถ้าได้พื้นดีแล้ว จะดีจริง ๆ จึงกล่าวได้ว่าโชคลาภในชีวิตอะไร ๆ ก็ดูจะสู้เป็นคนที่มีพื้นดีไม่ได้ และถ้าว่าข้างอาภัพ คนที่อาภัพที่สุด ก็คือคนที่มีพื้นเสีย ทำอะไรไม่ดีขึ้น
วิธีสังเกตพื้นคน
การจะดูพื้นว่าดีหรือไม่ดี เป็นการที่ยากสักหน่อย เพราะเป็นของที่จมอยู่ข้างล่าง หรือแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง เหมือนพื้นรากของโบสถ์ วิหาร ก็จมอยู่ในดิน ไม่ได้ขึ้นมาลอยหน้าอวดใคร ๆ เหมือนช่อฟ้า ใบระกา แต่ถึงจะดูยาก เราก็ต้องพยายาม ต้องหัดดูให้เป็น
วิธีดูพื้นของสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีที่สังเกต คือ สังเกตส่วนที่ปรากฏออกมาให้เห็นนั่นเอง เช่นจะดูพื้นถนนว่าดีหรือไม่ดี ก็ดูหลุมบ่อ ดูพื้นตึก ก็ให้ดูรอยร้าว เช่น ถ้าเราเห็นตึกหลังใดมีรอยร้าวตามฝาผนังเป็นทาง ๆ เราก็สันนิษฐานได้ว่า รากหรือพื้นตึกหลังนั้นไม่ดี
รอยร้าวทั้งห้า
การดูพื้นคน ก็ให้ดูรอยร้าวเหมือนกัน อาการที่เป็นรอยร้าวของคนที่สำคัญมี ๕ อย่าง ใช้คำเรียกอย่างสามัญได้ ดังนี้
๑. โหดร้าย
๒. มือไว
๓. ใจเร็ว
๔. ขี้ปด
๕. หมดสติ
ถ้าใครมีรอยร้าวทั้ง ๕ อย่างนี้ปรากฏออกมา ให้พึงรู้เถอะว่า ผู้นั้น เป็นคนพื้นเสีย
อาคารสถานที่ที่พื้นไม่แข็งแรง ถ้าปล่อยไว้เป็นที่ว่างเปล่า เพียงแต่ทรงตัวของมันอยู่บางทีก็อยู่ได้ คือ ทรงรูปร่างอยู่ได้ไม่ทรุดไม่พัง แต่เวลาใช้การ เช่นมีคนขึ้นไปอยู่ หรือนำสิ่งของขึ้นไปเก็บ อาคารจะทนไม่ไหว ประเดี๋ยวก็ทรุด พลาดท่าพังครืนทั้งหลัง เคยมีตัวอย่างมาแล้ว ผู้ที่พื้นเสียก็เหมือนกัน ลำพังเขาเองก็อยู่ได้ แต่พอมีหน้าที่ต้องรองรับเข้า ก็ทนไม่ไหว
การรักษาศีล ๕ เป็นเรื่องของการทำพื้นตัวโดยตรง พื้นตึก นายช่างสร้างด้วยไม้ ด้วยหิน
ปูน ทราย และเหล็ก แต่พื้นคน ต้องสร้างด้วยศีล ลงศีลห้าเป็นพื้นไว้เสียแล้ว รอยร้าวทั้งห้าจะไม่ปรากฏ
๒. ผลทางสังคม การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า สังคม ตั้งแต่ส่วนน้อยจนกระทั่งถึงส่วนใหญ่ จะมีความสุขความเจริญได้ ต้องมีความสงบ (สันติ) เป็นพื้นฐาน ถ้าความสงบมีสุขอื่นก็มีขึ้นได้ ถ้าไม่มีความสงบแล้ว สุขอื่นก็พังทลาย ดังนั้น ความสงบ หรือสันติ จึงเป็นสิ่งที่สังคมต้องการอย่างยิ่ง
ก็ความสงบของสังคมนั้น ย่อมมาจากคนในสังคมแต่ละคนนั่นเองเป็นผู้สงบ ถ้าคนในสังคมเป็นผู้ไม่สงบแล้ว ความสงบของสังคมจะมีไม่ได้เลย
คนรักษาศีล ก็เป็นคนทำความสงบแก่ตนเอง คือ ทำตนเองให้สงบ และการทำตนเองให้สงบ ก็เท่ากับสร้างความสงบให้แก่สังคมโดยตรงนั่นเอง
๓. ผลทางประเทศชาติ การดำรงรักษาประเทศชาติ มีภาระสำคัญยิ่งอยู่ ๒ ประการ คือ ๓.๑ การบำรุงให้ประเทศชาติเจริญ เช่น การเสริมสร้างการศึกษา การบำบัดทุกข์บำรุงสุข การส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น และ
๓.๒ การรักษา คือป้องกันการรุกรานจากศัตรู
ทั้ง ๒ ประการนี้รวมเรียกว่า บำรุงรักษาประเทศชาติ ได้มีผู้ข้องใจอยู่ว่า การที่คนรักษาศีล ทำให้การบำรุงรักษาประเทศชาติไม่ได้ผลเต็มที่ ที่คิดดังนี้เป็นเพราะคิดแง่เดียว คือนึกถึงตรงที่ประหัตประหารข้าศึกเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วการบำรุงรักษาชาติ ยังมีอีกร้อยทางพันทางซึ่งมีความสงบเป็นพื้นฐาน และเราได้ความสงบนั้นก็จากบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นผู้มีศีลดังกล่าวแล้ว ลองนึกวาดภาพดูซิว่า ถ้าคนทั้งประเทศทิ้งศีลกันหมด ฆ่าฟันกันอยู่ทั่วไป ลักปล้นฉ้อโกงกันดาษดื่น ล่วงเกินบุตรภรรยากันอย่างไม่มียางอาย โกหกปลิ้นปล้อน และดื่มสุรายาเมา สูบฝิ่นกินกัญชาทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร อย่าว่าแต่จะปราบศัตรูภายนอกเลย แม้แต่จะปราบโจรภายใน ก็ไม่ไหวแล้ว ถึงแม้ยามสงคราม ที่ทหารอุตส่าห์ทิ้งครอบครัวไปรบ ก็เพราะเชื่อแน่ว่าเพื่อนร่วมชาติที่อยู่แนวหลัง จะเป็นคนมีศีล ไม่ข่มเหงครอบครัวเขา และเชื่ออีกว่าครอบครัวเขาเองก็มีศีลมีสัตย์ต่อเขาด้วย
บรรพบุรุษของเรา รักษาประเทศชาติให้อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะชาวไทย เราพากันรักษาศีล คือ ไม่ทำลายล้างผลาญกันทั้งทางชีวิตร่างกาย ทางทรัพย์ และทางอื่น ๆ เราไม่ทำลายกันและกัน เราควบคุมกันเป็นปึกแผ่น ดินแดนไทยก็เป็นถิ่นที่สงบน่าอยู่ บางคราว มีเหตุร้ายเกิดขึ้น เพราะคนไม่มีศีล เราชาวไทยต้องทำการปราบปรามเหตุการณ์ร้ายนั้น ให้สงบราบคาบอย่างเด็ดขาด การสู้รบนั้น เป็นวิธีสุดท้ายที่เราทำด้วยความรักประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ของเรา เราต้องการให้ประชาชนพลเมืองมีความสงบสุขเท่านั้น หาใช่กระทำด้วยความเหี้ยมโหดทารุณในจิตใจไม่ เรารักเย็น เราเกลียดร้อน แต่เมื่อไฟไหม้ขึ้นแล้ว เราก็ต้องวิ่งเข้าไปหาไฟ เพื่อจะดับไฟนั้น แม้การเข้าไปดับไฟตัวจะร้อนแทบไหม้ เราก็ต้องยอมทน เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนใหญ่
การรักษาศีล จึงไม่ได้ทำให้กำลังป้องกันรักษาประเทศชาติของเราอ่อนลง บรรพบุรุษของเรา ท่านได้นำประเทศชาติลุล่วงมาจนถึงตัวเราทุกวันนี้ ท่านก็รักษาศีล คนรักษาศีลเป็นคนอ่อน ก็จริง แต่เป็นการอ่อนโยน ไม่ใช่อ่อนแอ ความอ่อนโยนเป็นเกราะป้องกันตัวดีที่สุด เพราะไม่ทำให้คนอื่นมาเป็นศัตรู การที่เราชาวไทยยึดมั่นในศีล คือชอบสงบเรียบร้อย จึงเป็นการสร้างกำแพงเหล็กกล้าป้องกันประเทศชาติของเราด้วย
วิรัติ
ศีล จะมีได้ก็ด้วยการตั้งเจตนางดเว้นจากความผิดนั้น ๆ ถ้าไม่มีเจตนาจะงดเว้น แม้มิได้ทำการละเมิด เช่นผู้ร้ายที่ถูกจับขังไว้ ขณะที่อยู่ในห้องขังนั้น ไม่ได้ฆ่าคน ไม่ลักของของใคร ก็ไม่นับว่า มีศีล (เว้นแต่เขาจะมีเจตนางดเว้น) เจตนางดเว้นจากการทำผิดศีล เรียกว่า “วิรัติ” มี ๓ อย่าง คือ
๑. สมาทานวิรัติ เจตนางดเว้นด้วยการสมาทานศีลไว้ล่วงหน้า
๒. สัมปัตตวิรัติ เจตนางดเว้นเมื่อเผชิญกับเหตุที่จะทำให้ผิดศีล
๓. สมุจเฉทวิรัติ เจตนางดเว้นเด็ดขาดของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว
ข. เบญจธรรม
เบญจธรรมนั้น บางทีเรียก กัลยาณธรรม แปลว่า ธรรมอันทำให้ผู้ประพฤติเป็นคนดีงาม บางทีใช้คำว่า “เบญจธรรม” เฉย ๆ แปลว่า ธรรมห้าอย่าง ก็เป็นอันรู้กันว่าหมายถึงกัลยาณธรรมนี้ ส่วนมากใช้ควบกับคำว่า เบญจศีล เช่นใช้ว่า “เบญจศีลเบญจธรรม” ท่านที่เคยเคร่งศัพท์ใช้เต็มอัตราเลย ก็มีเหมือนกัน คือใช้คำว่า เบญจกัลยาณธรรม
เราได้ทราบมาจากตอนต้นแล้วว่า พระพุทธศาสนาประกอบด้วยพระธรรมกับพระวินัย หมายความว่าโอวาทของพระพุทธองค์ทั้งสิ้นนั้น เมื่อแบ่งออกแล้ว มีอยู่สองประเภท คือ
๑. ธรรมะ ได้แก่ข้อปฏิบัติต่าง ๆ อันจะทำให้กาย วาจา ใจ ประณีตขึ้น
๒. วินัย ได้แก่ข้อห้าม หรือระเบียบควบคุมมิให้ตัวเราตกไปสู่ความชั่ว
ธรรมกับวินัยนี้ สำนวนทางพระ เวลาเรียกชอบเรียกว่า “ธรรมวินัย” แต่สำนวนชาวบ้านเราใช้คำว่า “ศีลธรรม” เช่นในหลักสูตรโรงเรียนก็เรียกว่า วิชาศีลธรรม ความหมายก็เหมือนกับคำว่า ธรรมวินัย คือ คำว่า ศีล = วินัย คำว่าธรรม = ธรรม
การประพฤติธรรมวินัย
เมื่อพระบรมศาสดาของเรา ได้ทรงรับสั่งไว้ให้เราทราบอย่างชัด ๆ ว่า พระโอวาทของพระองค์มีอยู่สองประการคือ ธรรม กับ วินัย อย่างนี้ เราผู้เป็นศาสนิกของท่าน เป็นผู้รับปฏิบัติตามศาสนาของท่าน ก็ต้องใส่ใจปฏิบัติให้ครบทั้งธรรมทั้งวินัย(ศีล) ควบกันไปเสมอ จึงจะได้ชื่อว่าได้เข้าถึงพระศาสนาที่เรียกว่า เป็นผู้มีศีลธรรม
การรักษาศีลก็ทำให้เราเป็นคนดีได้ แต่เป็นเพียงคนดีขั้นต้น คือดีที่เป็นคนไม่ทำความชั่วเท่านั้นเอง ถ้าหยุดอยู่เพียงนี้อาจเสียได้ ยกตัวอย่างคนเว้นจากการฆ่าสัตว์ ซึ่งเรายอมรับกันว่าเป็นคนมีศีล ถ้าคนผู้นี้เดินเล่นไปตามริมคลอง เห็นเด็กตกน้ำกำลังจะจมน้ำตาย ถ้าจะช่วยเขาก็ช่วยได้ แต่ไม่ช่วย กลับยืน มือก็กอดอกอยู่เฉย ๆ ถือว่าตัวไม่ได้ฆ่า ศีลบริสุทธิ์อยู่ ตามตัวอย่างนี้ ท่านนักศึกษาจะเห็นเป็นอย่างไร คนทั้งโลกก็ต้องลงความเห็นว่า เขาเป็นคนไม่ดี เพราะคนดีจะต้องรู้จักเว้นจากการฆ่าคนด้วย และรู้จักช่วยชีวิตคนด้วย
การเว้นจากการฆ่า นั่นเป็นการรักษาศีล
การช่วยชีวิตเขา นี้เป็นการปฏิบัติธรรม
ฉะนั้น ผู้รักษาศีลห้า พึงประพฤติเบญจธรรมกำกับไปด้วยจัดเป็นคู่ ๆ ดังนี้
เบญจศีล เบญจธรรม
เว้นจากการฆ่าสัตว์ คู่กับ เมตตากรุณา
เว้นจากการลักทรัพย์ คู่กับ สัมมาอาชีพ
เว้นจากการผิดในกาม คู่กับ กามสังวร
เว้นจากการพูดเท็จ คู่กับ สัจจวาจา
เว้นจากการดื่มสุรา คู่กับ สติสัมปชัญญะ
ความหมายของ “เบญจธรรม”
เบญจธรรม คือหลักธรรม ๕ ประการอันเป็นคู่ของ เบญจศีล แต่ละข้อมีความหมายดังนี้
๑. เมตตากรุณา คือปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข และช่วยเหลือเขาให้พ้นทุกข์ การไม่ทำร้ายผู้อื่นนั้นก็นับว่าเป็นคนดีแล้ว แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ต้องเอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่นด้วย สังคมจึงจะสงบร่มเย็นยิ่ง ๆ ขึ้น
๒. สัมมาอาชีพ คือตั้งใจทำมาหาเลี้ยงโดยสุจริต หมายถึง การหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ธรรมข้อนี้คู่กับศีลข้อสองที่ให้ละเว้นจากการถือเอาของที่เขาไม่ให้ คนที่ประกอบอาชีพสุจริต ขยันขันแข็งในการทำมาหากิน ย่อมยินดีกับของที่ตนหาได้เอง ไม่คิดฉกฉวยเอาของผู้อื่น
๓. กามสังวร คือระมัดระวังในเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ทางกามารมณ์ หมายถึง การยินดีเฉพาะในคู่ครองของตนและการไม่คิดหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องความรักความใคร่จนเกินขอบเขต การที่คนเรามีความต้องการทางเพศนั้น มิใช่ของผิดปกติแต่อย่างใด แต่ถ้าเดินสายกลางไว้ ก็จะทำให้เราไม่ไปผิดลูกเมีย ผู้อื่น ธรรมข้อนี้คู่กับศีลข้อสาม
๔. สัจจวาจา คือรักษาวาจาให้ได้จริง บูชาคำจริง หมายถึง การพูดความจริง เป็นธรรมที่ใช้คู่กับศีลข้อสี่ที่ให้เว้นจากการพูดเท็จ ธรรมข้อนี้เป็นการส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักแสดงไมตรีจิต
ต่อกันทางวาจา การพูดความจริงนี้หมายรวมถึงการพูดคำสุภาพ คำอ่อนหวาน และการสื่อสารที่ตรงกับความเป็นจริง ไม่บิดเบือนสื่อ
๕. สติสัมปชัญญะ คือฝึกตนมิให้ประมาท หมายถึง มีสติรอบคอบรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร พูดอะไร ธรรมข้อนี้คู่กับศีลข้อห้าที่ห้ามมิให้ดื่มสุราเมรัย ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามศีลและธรรมข้อที่ห้าอยู่เสมอจะเป็นผู้ที่ไม่ขาดสติ ไม่ประมาท จะทำการสิ่งใดก็จะสำเร็จได้โดยไม่ยาก และโอกาสที่จะเผลอตัวทำผิดด้วยความประมาทก็มีน้อยหรือไม่มีเลย
มนุษยธรรม
มีข้อควรทราบอีกอย่างหนึ่ง คือศีลห้านี้ ความจริงเป็นข้อปฏิบัติต่อกันในระหว่างมนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์เรียกว่า มนุษยธรรม แปลว่า ธรรมของมนุษย์ หรือธรรมะเครื่องทำผู้ประพฤติให้เป็นมนุษย์
ครั้นเมื่อพระสิทธัตถะตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงรับรองและส่งเสริมศีลห้านี้ ทรงรับเข้าเป็นคำสอนในศาสนาของพระองค์ ทรงแสดงความหมายหรือเงื่อนไขของแต่ละข้อให้ละเอียดแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เพื่อปิดกั้นความชั่วที่จะไหลซึมเข้ามาสู่ใจได้สนิท
ธรรมะเพื่อความมั่นคงทางการเมือง
ก. พรหมวิหาร ๔ คุณธรรมสำหรับผู้บังคับบัญชา หรือของผู้ใหญ่
ความรักใคร่นับถือและจงรักภักดี ย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกครองบังคับบัญชา เพราะจะนำมาซึ่งความเคารพเชื่อฟังของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้น้อย จะเป็นประโยชน์ทั้งในการปกครอง
และการสั่งการต่าง ๆ
ความเคารพนับถือและความจงรักภักดีจะเกิดขึ้นได้ จะต้องอาศัยการประพฤติธรรมของ ผู้ใหญ่หรือของผู้บังคับบัญชาเป็นประการสำคัญ และหลักธรรมเพื่อสร้างความจงรักภักดีมีดังนี้
๑. เมตตา ความรัก คือความปรารถนาดี มีไมตรี ต้องการให้ผู้น้อยมีความสุขความเจริญ
๒. กรุณา ความสงสาร คือเมื่อผู้น้อยประสบทุกข์ มีความเดือดร้อนด้วยประการใด
ก็มีใจฝักใฝ่อยากจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ร้อนนั้น ๆ ให้หมดสิ้นไป
๓. มุทิตา ความเบิกบานพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้น้อยอยู่ดีมีสุข หรือประสบความสำเร็จ
ในชีวิตหน้าที่การงาน
๔. อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง คือมองตามความเป็นจริง มีความมั่นคงเที่ยงตรง
ดุจตราชั่งไม่เอนเอียงหวั่นไหว โดยสรุปคือเว้นจากอคติ ๔
ข. ทศพิธราชธรรม ๑๐ ธรรมสำหรับผู้นำหรือผู้บริหารบ้านเมือง
๑. หน้าที่ของผู้นำ
เรามักจะพบว่าที่ใดก็ตามที่มีคนหลาย ๆ คนอยู่ร่วมกัน ที่นั้นมักจะต้องมีหัวหน้าหรือผู้นำ ในกลุ่มเล็ก ๆ เช่นครอบครัวมีพ่อแม่เป็นผู้นำ ในหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้า ในโรงเรียนมีครูใหญ่เป็นหัวหน้า ในกระทรวงต่าง ๆ มีรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า หลาย ๆ กระทรวงรวมกันเข้าเป็นคณะรัฐบาลมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า และเมื่อมองประเทศไทยทั้งประเทศเราก็มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ
ผู้นำมีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของกลุ่มหรือของหมู่คณะ ทำให้หมู่คณะอยู่ด้วยกันเป็นระเบียบเรียบร้อย มีกติกาและหลักปฏิบัติอันเดียวกัน ทำให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับหมู่คณะก็เป็นผู้ประสานงานเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ หากไม่มีหัวหน้าหรือผู้นำเป็นศูนย์กลางในการร่วมมือกัน ไม่มีผู้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดี การแก้ปัญหาก็ไม่อาจจะราบรื่น
ผู้นำยังเป็นผู้คอยดูแลปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่าหรือด้อยกว่าคนอื่นในกลุ่มหรือในสังคม เป็นผู้พยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม มิให้มีการเอารัดเอาเปรียบ ข่มเหงรังแกกันจนเกิดความไม่ยุติธรรม นอกจากนี้ผู้นำยังเป็นผู้แทนของกลุ่มติดต่อกับกลุ่มอื่น ๆ ในระดับประเทศก็เป็นผู้แทนของประเทศติดต่อกับประเทศอื่น ๆ เป็นต้น
๒. คุณธรรมของผู้นำ
คุณธรรมของผู้นำหรือหัวหน้าเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยทั่วไปหัวหน้ามักจะมีสิทธิ์และอำนาจที่จะสั่งการและดำเนินการกิจการของหมู่คณะ หากหัวหน้าหรือผู้นำปราศจากคุณธรรมแล้ว สมาชิกของหมู่คณะก็จะอยู่ด้วยกันอย่างปราศจากความสงบสุข หมู่คณะเองก็จะไม่เจริญก้าวหน้า ในหมู่คณะใดหมู่คณะหนึ่งหากมีสมาชิกคนหนึ่งไร้คุณธรรม ผลร้ายที่เกิดขึ้นอาจตกอยู่กับคนใกล้เคียงไม่กี่คน แต่หากผู้นำขาดคุณธรรมผลร้ายจะเกิดกับคนทั้งหมด
พระพุทธศาสนาได้สอนไว้ว่า ผู้นำที่ดีนั้นควรมีคุณธรรม ๑๐ ประการ เรียกว่า ทศพิธราชธรรม ๑๐ ดังนี้
๑. การให้ (ทาน) หมายถึงการสละทรัพย์สิ่งของด้วยความเต็มใจเพื่อช่วยเหลือสมาชิกของหมู่คณะที่ด้วยและอ่อนแอกว่าผู้อื่น ในระดับประเทศก็คือการบำรุงเลี้ยงและช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนเพื่อให้อยู่ดีกินดีขึ้น ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ทรงปฏิบัติเสมอมา
๒. ตั้งอยู่ในศีล (ศีล) หมายถึงการมีความประพฤติดีงาม มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่หลอกลวงคนทั่วไปเพื่อผลประโยชน์ของตน ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีงามของผู้อื่น ให้เป็นที่เคารพนับถือของผู้ที่อยู่ในความดูแล
๓. การบริจาค (ปริจจาคะ) คือการเสียสละความสุขความสำราญตลอดจนชีวิตาของตนเพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ไม่ทำตนเป็นคนฟุ้งเฟ้อ เป็นต้น
๔. ความซื่อตรง (อาชชวะ) คือมีความจริงใจกับคนทุกคน ไม่ทำตนเป็นคนเจ้าเลห์
พูดอย่างหนึ่งแต่ใจคิดอีกอย่างหนึ่ง หากผู้นำของสังคมใดก็ตามเป็นคนไม่ซื่อแต่ชอบกลับหลอกแล้ว สังคมนั้นก็จะมีแต่ความระส่ำระสายหาความสงบมิได้
๕. ความอ่อนโยน คือสุภาพนุ่มนวลไม่เย่อหยิ่งแข็งกระด้าง มีวาจาอ่อนหวาน จะพูดจะเดินก็มีความสำรวม แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องทำตนให้มีสง่าราศี เพื่อให้ผู้อื่นเกิดความยำเกรง กล่าวคือเป็นคนอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอเป็นคนเข็มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง
๖. การขจัดกิเลส (ตปะ) คือการพยายามข่มใจมิให้มีกิเลสตัณหามาครอบงำจิตใจ ไม่หมกมุ่นกับความสนุกสนานจนลืมตน มีความเป็นอยู่ง่าย ๆ รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ พยายามศึกษาธรรมะ และนำมาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
๗. ความไม่โกรธ (อโกธะ) คือมีจิตใจมั่นคง ไม่ฉุนเฉียว ต้องอดกลั้นความไม่พอใจไว้ได้มิให้อารมณ์เข้ามามีอำนาจเหนือปัญญา ต้องเป็นคนไม่วู่วาม มีสติอยู่เสมอ ความโกรธนั้นอาจทำให้ตัดสินใจอะไรผิดได้ง่าย ๆ ถ้าผู้นำเป็นโกรธง่ายแล้วสังคมจะสงบสุขได้ยาก เพราะการกระทำที่เกิดจากความโกรธนั้น บางทีได้ผลร้ายจนยากที่จะแก้ไขได้
๘. ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือไม่บังคับกดขี่คน ไม่หลงระเริงในอำนาจ ไม่อาฆาตเกลียดชัง ถ้าจะลงโทษคนก็เป็นไปตามกติกาหรือกฎหมาย ไม่เอาแต่ใจตัวเชื่อฟังแต่คนใกล้ชิด ต้องถือหลักความยุติธรรมเป็นใหญ่
๙. ความอดทน (ขันติ) คืออดทนต่อการงาน เข็มแข็งไม่ย่อท้อเมื่อพบปัญหา ถึงจะลำบากกายและใจแคไหนก็อดทน ไม่หมดกำลังใจง่าย ๆ เป็นคนมั่นคงเด็ดเดี่ยวในเป้าหมายที่จะบรรลุถึง
๑๐. ไม่คลาดธรรม (อวิโรธนะ) คือตั้งใจมั่นในธรรม ไม่หวั่นไหวในเรื่องดีเรื่องร้าย ไม่หลงไหลในลาภสักการะ ไม่สั่นคลอนด้วยคำสรรเสริญหรือนินทา มีความยุติธรรมไม่ลำเอียง เป็นผู้ยึดแบบแผนที่ชอบธรรม เป็นต้น
คุณธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้ เป็นของจำเป็นสำหรับผู้นำหรือหัวหน้าทุกระดับตั้งแต่ครอบครัวถึงประเทศชาติ ตั้งแต่ทีมฟุตบอลถึงหน่วยงานระดับกระทรวง หากผู้นำมีคุณธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้ สังคมก็มีสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น ๆ ไป แต่ถ้าผู้นำไร้คุณธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้แล้ว สังคมก็จะปั่นป่วนหาความสุขความเจริญไม่ได้
ธรรมเพื่อความมั่นคงทางทหาร
การเสียสละ
การให้ของรักเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแก่ผู้อื่น หรือแก่ส่วนรวม โดยผู้ให้ไม่หวังผลประโยชน์อะไรตอบแทนเลย เรียกว่าเป็นการเสียสละ ในโคลงโลกนิติท่านว่า “ ในร้อยคนจะมีคนกล้าสักหนึ่งคน ในพันคนจะมีบัณฑิตสักหนึ่งคน ในแสนคนจะมีคนพูดจริง (คำไหนคำนั้น) สักหนึ่งคน คนเสียสละได้นั้น (ในโลกขณะนี้) จะมีหรือไม่มีก็ยังไม่แน่” ทั้งนี้ เพราะถือว่าคนที่เสียสละได้อย่างแท้จริงนั้น เป็นผู้ประเสริฐที่มหาชนหรือชาวโลกควรบูชา เช่น องค์พระสัมมาพุทธเจ้า และวีรชนอื่น ๆ ที่เสียสละทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมอย่างบริสุทธิ์ใจ
หลักการเสียสละ
หลักการเสียสละนั้นถือว่า ให้เสียสละสิ่งที่มีคุณประโยชน์น้อย เพื่อรักษาสิ่งที่มีคุณประโยชน์มากไว้ หรือเสียสละประโยชน์สุขส่วนน้อยเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมอันไพศาล ดังที่วีรบุรุษผู้กล้าหาญของชาติไทยในประวัติศาสตร์ได้เสียสละชีวิต เลือด เนื้อป้องกันเอกราชของชาติ และรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้เราได้อยู่อาศัย ในทางพระพุทธศาสนา สอนคนให้เสียสละ สรรเสริญผู้ที่เสียสละทรัพย์สินที่หามาได้ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน วัด ถนนหนทาง เป็นต้น ถือว่าเป็นมหากุศลแก่ผู้ทำ และชาวโลกก็ชื่นชมสรรเสริญ ท่านวางหลักการเสียสละไว้ ๓ อย่าง ตามลำดับที่รักน้อยรักมาก คือ:-
๑. เสียสละทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ โดยถือว่าแม้เราจะรักและหวงแหนทรัพย์เพียงใดก็ตาม แต่เพื่อรักษาอวัยวะร่างกาย เราก็ต้องเสียสละทรัพย์นั้น
๒. เสียสละอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต เช่น เมื่อเกิดโรคร้าย มี มะเร็ง ที่ขาหรือแขน เป็นต้น ถ้าไม่ผ่าตัดส่วนนั้นออกไปเสีย ตนก็จะถึงแก่เสียชีวิต ในกรณีนี้ ก็ควรยอมถูกตัดขาหรือแขนกลายเป็นคนขาด้วนหรือแขนด้วนดีกว่า เพื่อให้มีชีวิตอยูต่อไป
๓. เสียสละทุกอย่าง เพื่อรักษาธรรมะ ธรรมะคือคุณธรรมความถูกต้อง ความสุจริต ยุติธรรม หรือหลักธรรมะอันเป็นปรัชญาที่เป็นอุดมคติของชีวิต คนที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ย่อมมุ่งประโยชน์ส่วนตน บางคราวก็ละเลยต่อหลักธรรมะไป แต่ปราชญ์ผู้เสียสละ ย่อมจะรักษาธรรมะและต่อสู้กับอธรรม แม้จะแลกด้วยทรัพย์ อวัยวะ และชีวิตก็ยอม ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละเพื่อธรรม อันจะเป็นรากฐานของความเจริญและความสงบสุขแก่โลกเป็นส่วนรวม
-๔๘-
อย่างไรก็ดี บุคคลที่เสียสละประโยชน์สุขส่วนตน หรือประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อส่วนรวมด้วยใจอันบริสุทธิ์นั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตใจสูง มีคุณธรรม น่าเคารพบูชา ผู้กล้าหาญหรือนักปราชญ์ทั้งหลายผู้เสียสละได้นั้น คือยอดคนอย่างแท้จริง
๒. คุณธรรมของผู้นำ
ความสำคัญของความเป็นผู้นำ
งานในสังคมมนุษย์ที่ถือว่าสำคัญและเป็นงานบุญกุศล มี ๓ งาน คือ
๑. งานของนักปกครอง
๒. งานของครู
๓. งานของนักบวช
งานดังกล่าวที่ว่าสำคัญและเป็นงานได้กุศล เพราะได้ทำประโยชน์เกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์ นำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่คนทั้งหลายเป็นอันมาก
นักปกครองคือผู้นำของกลุ่มชน เป็นดุจโค ผู้เป็นหัวหน้าฝูง หากนำไปถูกทางมหาชนผู้อยู่อาศัยในใต้บังคับบัญชาก็ได้รับความสุขความเจริญ แต่ถ้านำไปผิด มหาชนก็ได้รับความทุกข์ ความเสื่อม
คุณธรรมของผู้นำ
ผู้นำที่ดี สามารถเป็นที่พึ่งพาอาศัยของคนทั้งหลายได้ นอกจากจะต้องประกอบด้วยคุณธรรมประจำใจ คือ ต้องมีทั้งวิชาความรู้ความสามารถดีและจรณะ มีคุณธรรมความประพฤติปฏิบัติดี
คุณธรรมสำหรับผู้นำที่ดีนั้น มีมากมายหลายประการ และแม้หลักธรรมเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเมืองที่กล่าวมาแล้วเช่นทศพิธราชธรรม ๑๐ เป็นต้นก็มีความสำคัญต่อผู้นำ แต่เพื่อให้เหมาะแก่เวลา จึงนำมาศึกษาเพิ่มเติมเพียง ๖ ข้อ ดังนี้
๑. พรหมวิหาร ๔
๒. สังคหวัตถุ ๔
๓. เวสารัชชกรณธรรม ๔
๔. สัปปุริสธรรม ๗
๕. ทศพิธราชธรรม ๑๐
๖. จักรวรรดิวัตร ๕
๑. พรหมวิหาร ๔ คุณธรรมสำหรับผู้นำหรือผู้ใหญ่ (เนื้อหาเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว)
๒. สังคหวัตถุ หลักสร้างมนุษยสัมพันธ์
ทุกสิ่งในโลกจะเจริญขึ้นได้ และจะดำรงอยู่ในความเจริญได้ ย่อมต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมช่วยเหลือสนับสนุน ดังเช่นเมล็ดผลไม้ที่จะงอกงามขึ้นได้ ก็ต้องได้ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศเข้าสนับสนุน อาคารตึกรามที่ใหญ่โต จะทรงตัวอยู่ได้ก็ต้องได้ไม้ อิฐ หิน ปูน ทราย เหล็ก และอื่น ๆ คุมกันเข้า ไม่ต้องอื่นไกล ร่างกายของเรานี้ เติบโตขึ้นมาและมีชีวิตอยู่ได้ ก็ต้องได้รับความสนับสนุนจากอาหาร อากาศ และเครื่องอุปโภคอื่น ๆ อีกมาก ข้อที่ว่า ทุกสิ่งจะเจริญขึ้นได้ต้องอาศัยการสนับสนุนของสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นความจริงอย่างหนึ่ง
ชีวิตของเราก็เหมือนกัน จะมีความเจริญรุ่งโรจน์ไม่ว่าทางการครองชีพ ทางการศึกษา ทางการสังคม หรือทางการงานก็ตาม จำเป็นจะต้องได้รับความสนับสนุนจากบุคคลอื่นจึงจะสำเร็จได้ ไม่มีผู้ใดที่จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้โดยลำพังคนเดียว โดยไม่ต้องอาศัยคนอื่นเลย
การที่คนอื่นเขาจะยินดีสนับสนุนช่วยเหลือแก่เราเพียงใดนั้น ส่วนสำคัญก็อยู่ที่ใจของเขาที่จะต้องมีความรักใคร่นับถือในตัวเราเป็นทุนอยู่ก่อน ดังนั้น เราจึงมีปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ในลำดับแรก คือปัญหาที่ว่า ทำอย่างไรคนอื่นจึงจะรักใคร่นับถือเรา และทำอย่างไรผู้ที่รักและนับถืออยู่แล้วจึงจะมีความรักนับถือไม่จืดจาง
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมะเครื่องยึดเหนี่ยวใจคนอื่นไว้ เรียกว่า สังคหวัตถุ (หลักสร้างมนุษยสัมพันธ์) มี ๔ ประการคือ
๑. ทาน การให้ปันของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน ทาน ในที่นี้ต่างจากทานในบุญกิริยาวัตถุ คือในบุญกิริยาวัตถุนั้น เป็นการให้โดยการมุ่งจะทำบุญ แต่ในที่นี้ มุ่งการสงเคราะห์แก่ผู้รับ มีการปฏิบัติ และผล คือ
๑.๑ วิธีปฏิบัติ คือ รู้จักแบ่งของกินของใช้แก่คนอื่นบ้าง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรี
ต่อกัน ไม่เป็นคนตระหนี่ใจแคบหวงกินหวงใช้แต่คนเดียว
๑.๒ ผลที่ผู้ให้จะได้จากผู้รับ ลำดับแรกที่สุด คือจะได้รับความรักจากผู้รับทันทีที่ให้ ต่อจากนั้นไป ยังจะได้รับไมตรีจิตและอามิสตอบแทน คนทั้งหลายที่รู้เห็นจะสรรเสริญ
๒. ปิยวาจา ได้แก่ การเจรจาถ้อยคำน่ารัก ซึ่งคำพูดโดยทั่วไปนั้นมีสองประเภท คือ
๒.๑ ปิยวาจา คำพูดที่พูดแล้วทำให้คนฟังรักคนพูด
๒.๒ อัปปิยวาจา คำพูดที่พูดแล้วทำให้คนฟังชังคนพูด
ในคำทั้งสองนี้ ปิยวาจาเท่านั้นที่ครองใจคนฟังได้ ในทางปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักคำหยาบ แล้วเว้นจากการพูดคำหยาบเสีย พูดแต่คำที่ตรงกันข้าม คำหยาบมีลักษณะต่าง ๆ คือ
- คำด่า ได้แก่ การกล่าวโดยกดให้ต่ำลง
- ประชด ได้แก่ การกล่าวโดยยกให้สูงเกินตัว
- กระทบ ได้แก่ การกล่าวโดยเลียบเคียงให้เจ็บใจ
- แดกดัน ได้แก่ การกล่าวด้วยเจตนาจะแดกดัน
- สบถ ได้แก่ คำกล่าวเข่นฆ่าน่าสยอง
- คำต่ำ ได้แก่ ใช้คำกล่าวที่สังคมถือว่าต่ำทราม
คำกล่าวทั้งหมดนี้ จะเป็นคำหยาบหรือไม่ วินิจฉัยด้วยเจตนาของผู้กล่าวนั่นเอง ถ้าเจตนาหยาบก็เป็นคำหยาบ บางคนเข้าใจผิดว่า การกล่าวคำหยาบเป็นการแสดงอำนาจในตัวคนกล่าว แต่ความจริงแล้ว คำหยาบได้ลดความศักดิ์สิทธิ์และละลายอำนาจในตัวคนกล่าวลงทุกครั้งที่กล่าวคำหยาบ ผู้กล่าวคำหยาบ เป็นผู้สร้างเสนียดขึ้นในตัว ในครอบครัว และในสังคมอย่างน่าอับอาย ทุกคนควรจำไว้ว่า สิ่งที่จะมัดสิ่งอื่นไว้ได้ ต้องเป็นของอ่อน และคำที่จะมัดใจคนอื่นไว้ได้ ก็มีแต่คำสุภาพอ่อนโยนเท่านั้น
๓. อัตถจริยา คือการบำเพ็ญประโยชน์ การบำเพ็ญประโยชน์หมายความว่า รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นด้วยแรงตน มิใช่ประพฤติเป็นคนตัดช่องน้อยเอาตัวรอด ในทางปฏิบัติ ผู้บำเพ็ญอัตถจริยา จะต้องคำนึงถึงการปฏิบัติตน ๒ สถาน คือ
๓.๑ การทำตนให้เป็นคนมีประโยชน์ คือ สร้างกำลังกาย กำลังความคิด กำลังความรู้ กำลังทรัพย์ขึ้นในตน ให้พอที่จะใช้กำลังอย่างใดอย่างหนึ่งช่วยเหลือคนอื่นได้ คนอย่างนี้ เรียกว่า คนมีประโยชน์ และ
๓.๒ จ่ายกำลังที่ตนมีอยู่นั้น บำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน ตลอดจนเพื่อนมนุษย์ทั่วไปตามสมควรแก่เรื่อง การบำเพ็ญประโยชน์ดังกล่าวนี้ หมายถึงการไม่ดูดายในการช่วยเหลือคนอื่น เป็นการแสดงอัธยาศัยน่ารักน่านับถือของผู้บำเพ็ญ
อนึ่ง ผู้บำเพ็ญอัตถจริยา จะต้องเว้นการกระทำอันเป็นภัยแก่ผู้อื่นเสีย แม้แต่
การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทิ้งเศษแก้วลงตามทางเดิน หรือถ่ายเทของสกปรกในที่อันจะทำลายความสุขของคนอื่น เป็นต้น
๔. สมานัตตตา คือการวางตนเหมาะสม เสมอสมาน ความเป็นผู้มีตนเสมอ หมายถึงการวางตัวสมกับภาวะและฐานะของตน ไม่ลืมตัวกลายเป็นคนเย่อหยิ่งจองหองเหยียบย่ำญาติพี่น้องและคนที่เคยนับถือกัน เป็นคนประพฤติความดีสม่ำเสมอ
ความมีตนเสมอมี ๒ นัย คือ
๑. ความมีตนเสมอในบุคคล หมายความถึงนับถือกันสม่ำเสมอ หรือเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ถือตัว เช่น บุคคลใดเป็นพ่อแม่หรือญาติชั้นใด ควรจะนับถือยกย่องอย่างใด และเคยนับถือกันมาอย่างใด ก็นับถืออย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะมีฐานะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและเหตุการณ์ อีกอย่างหนึ่ง หมายถึงความสามารถที่ปฏิบัติตนเข้ากับบุคคลอื่นได้
๒. ความมีตนเสมอในธรรม หมายความว่าสิ่งใดเป็นความดีและเคยประพฤติมาอย่างใด ก็ประพฤติอย่างนั้น ไม่ใช่ต่อหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอย่างหนึ่ง หรือเมื่อก่อนนี้ประพฤติอย่างหนึ่งครั้นบัดนี้ลืมความดี ประพฤติวิปริตไป ซึ่งคำว่าธรรมในที่นี้ หมายถึง กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ แบบแผน สุจริตธรรม และคำว่า การวางตนเสมอภาค ในความหมายทางธรรมก็คือการวางตนเสมอต้นเสมอปลาย
๓. อคติ ๔
อคติ คือความลำเอียง ความไม่ยุติธรรม ๔ ประการ เพราะอคติธรรมเป็นอุปสรรค และ
มีแต่จะสร้างความเสื่อมทรามให้แก่การปกครองตลอดมาในทุกสมัยและทุกวงการ ผู้ใหญ่ที่ขาดความยุติธรรมย่อมจะไม่ได้รับความเคารพหรือนับถือและความจงรักภักดี ฉะนั้น บุคคลผู้เป็นใหญ่ หากหวังจะให้เป็นที่เคารพนับถือและเป็นที่จงรักภักดีของผู้น้อย จะต้องเว้นอคติ ๔ ประการ คือ
๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่ เห็นแก่หน้า เห็นแก่พวกพ้อง หรือคนใกล้ชิด เห็นแก่
ประโยชน์ตน
๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เช่น เพราะชะตาไม่ต้องกัน หรือเคยมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน ตลอดจนเป็นคนอื่น พวกอื่น ผู้ใหญ่ต้องรู้จักให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธาโดยไม่มี
วันสิ้นสุด
๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา คือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดการตรวจสอบพิจารณา
๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว คือกลัวเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ตลอดจนกลัวอันตรายต่าง ๆ จนยอมเสียความยุติธรรม
๔. สาราณียธรรม ๖
สาราณียธรรม ๖ แปลว่า ธรรมที่ช่วยให้ระลึกถึงกัน หมายถึง ธรรมที่เป็นหลักในการสร้างความสามัคคี
ความสามัคคี คือ การร่วมมือสมัครสมานกันทั้งกาย วาจา ใจ เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางอันชอบธรรมร่วมกัน การร่วมมือนั้นจะเกิดผลดียิ่งหากทุกคนที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกัน แต่การที่จะให้ทุกคนเห็นตรงกันหมดนั้นมิใช่ของง่าย ดังนั้น หลังจากที่พิจารณากันด้วยเหตุผลแล้ว คนส่วนน้อยจะต้องเห็นคล้อยตามคนส่วนมาก ความสามัคคีจึงจะเกิดขึ้นได้
๑. ความสำคัญของความสามัคคี
ความสามัคคีมีความสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดพลัง พลังนี้ใช้ได้ทั้งทางดีและทางชั่ว การใช้พลังในทางชั่วนั้นเป็นการทำลายผู้อื่นและตัวเอง ควรละเว้น การที่ความสามัคคีก่อให้เกิดพลังนั้นเราเห็นได้แม้กับธรรมชาติที่ไร้ชีวิต เช่น ถ้าเราใช้กระจกนูนรวมแสงอาทิตย์ให้มารวม ณ จุดเดียวกันได้ ก็จะเกิดพลังเผาไหม้ได้ หรือเชือกที่ทำขึ้นจากหอหรือป่านแต่ละเส้น ฟั่นรวม ๆ กันจนเป็นเกลียวเหนียวแน่น ดึงขาดได้ยาก แต่ถ้าปอหรือป่านแต่ละเส้นอยู่เส้นเดียวเดี่ยว ๆ ก็ไม่เกิดความเหนียวเท่าไร สามารถดึงขาดได้ง่าย ในหมู่สัตว์เองก็ต้องการความสามัคคี เช่น การอยู่รวมกันของผึ้ง มีการแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำงาน ช่วยกันหาอาหาร นอกจากนั้นใครจะไปทำลายก็กลัวพลังความสามัคคีของผึ้งทั้งรัง
ในสังคมมนุษย์ ถ้าหากสังคมใดมีความสมัครสมานสามัคคี ก็ทำให้สังคมนั้นมีแรงมีพลังสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี เช่น นักเรียนทุกคนร่วมกันรักษาความสะอาดของโรงเรียน ไม่ทิ้งขยะมูลฝอยในสนาม ก็ทำให้โรงเรียนนั้นดูสะอาดเรียบร้อย หรือคนในหมู่บ้านร่วมแรงร่วมใจกันป้องกันภัยจากโจรผู้ร้าย ด้วยการอยู่เวรยามหรือช่วยกันสอดส่องดูแลคนแปลกปลอมเข้ามาในหมู่บ้านก็จะทำให้หมู่บ้านนั้นพ้นจากภัยของโจรที่จะมาลักเล็กขโมยน้อยได้ แต่ถ้าสังคมใดขาดความสามัคคีก็จะทำให้สังคมนั้นถึงซึ่งความวิบัติได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับครอบครัว หมู่บ้าน โรงเรียนหรือประเทศชาติก็ตาม ดังนั้นการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๒ ครั้ง ก็เพราะการขาดความสามัคคี คนไทยบางคนเอาใจออกห่างไปข้างข้าศึก พม่าจึงเข้าโจมตีได้ง่าย ดังนี้ เป็นต้น
๒. หลักธรรมในการสร้างความสามัคคี
หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องการสร้างความสามัคคี คือ “สาราณียธรรม ๖“ ซึ่งมี ๖ ข้อด้วยกัน ดังนี้
๑) เมตตากายกรรม หมายถึง การมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อสมาชิกในหมู่คณะเดียวกัน นับตั้งแต่คนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตร ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมชาติ เป็นต้น ด้วยการอนุเคราะห์ช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า ไม่เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ได้ เอาตัวรอดแต่เพียงผู้เดียว เป็นการให้ความรักความเมตตาแก่สมาชิกร่วมสังคม ทำให้สังคมมีแต่ความรักความสามัคคี ตนเองก็เป็นที่รักของคนอื่น
๒) เมตตาวจีกรรม คือ การมีวาจาดีต่อกัน เช่น พูดจาสุภาพ ไม่พูดค่อนขอดนินทา เมื่อมีปัญหาขัดแย้งก็พูดจาตกลงกันด้วยเหตุผล ไม่พูดจาข่มขู่หรือเยาะเย้ยถากถางกัน นอกจากนี้เมตตาวจียังหมายถึงการแจ้งข่าวที่เป็นประโยชน์ หรือสั่งสอนตัดเตือนกันด้วยความหวังดี หากปฏิบัติได้ดังนี้ย่อมนำความสามัคคีมาสู่สังคมอย่างดียิ่ง
๓) เมตตามโนกรรม คือ การคิดดีต่อกัน ไม่คิดมุ่งร้ายพยาบาทหรืออิจฉาริษยากัน ดีใจด้วยเมื่อสมาชิกร่วมหมู่คณะได้ดี เสียใจด้วยเมื่อเขาประสบความเสียหาย ทั้งนี้ต้องจริงใจต่อกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน ไม่มัวแต่จ้องจะจับผิดกัน ควรมองกันในแง่ดี คนเรานั้นความคิดมาก่อนการกระทำ เมื่อคิดแล้วจึงทำ ถ้ามีจิตใจดีต่อกันแล้ว ก็มีแต่ความเป็นมิตร ไม่คิดร้ายซึ่งกันและกัน หมู่คณะใดที่มีน้ำใจดีงามต่อกันเช่นนี้ ย่อมทำให้หมู่คณะนั้นมีความสามัคคีอยู่อย่างเหนียวแน่น
๔) สาธารณโภคี คือ การแบ่งปันสิ่งของให้แก่กันและกัน ไม่ตระหนี่หรือหวงไว้แต่ผู้เดียว แม้จะเป็นของเล็กน้อยก็ตาม ดูแลเอาใจใส่สิ่งของผู้อื่นเหมือนกันเป็นของตนเอง ไม่ทำลาย
ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ หากสมาชิกของหมู่คณะผู้ใดอัตคัดขาดแคลนก็ช่วยเหลือเจือจานกันตามกำลังความสามารถ ความรักใคร่กลมเกลียวย่อมเกิดขึ้นอยู่และอยู่ได้นานในหมู่คณะ ซึ่งปฏิบัติดังที่กล่าวมานี้
๕) สีลสามัญญตา คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม มีระเบียบวินัย ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์
ของหมู่คณะตามอำเภอใจ เมื่อมีกฎหรือระเบียบก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติให้เสมอเหมือนกัน
หมู่คณะที่มีแต่คนทุจริต คอยเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น มีแต่การเกี่ยงงอนกัน จะหาความสามัคคีในหมู่คณะนั้นมิได้
๖) ทิฏฐิสามัญญตา คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน หากมีปัญหาใด ๆ ก็หาทางยุติปัญหาร่วมกัน ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเห็นว่าตนถูก ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ขจัดความเห็นแก่ตัว รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ความดีงามให้กับสังคม และความสามัคคีก็จะตามมา
หมู่คณะใดก็ตามปฏิบัติตามหลักสาราณียธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ ก็จะเป็นการสร้างและรักษาความสามัคคีให้เกิดแก่หมู่คณะนั้น ทำให้เกิดพลังในการปฏิบัติงานของหมู่คณะ และอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ศัตรูอื่นใดก็ไม่อาจกล้ำกรายมาทำร้ายได้
๕. อปริหานิยธรรม ๗
ธรรมข้อนี้ได้ชื่อว่า ธรรมมะอันเป็นเหตุไม่ให้เกิดความเสื่อม พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนธรรมะที่จะป้องกันมิให้เกิดความเสื่อมขึ้นทั้งในศาสนจักรและอาณาจักร คือ ทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายคณะสงฆ์ ธรรมะข้อนี้เรียกว่า “อปริหานิยธรรม ๗” ซึ่งมีทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายคณะสงฆ์
ในที่นี้จะกล่าวเพียงของฝ่ายบ้านเมือง
บ้านเมืองใดก็ตามหากผู้คนปฏิบัติไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดความหายนะ คือ ความ
เสื่อมได้ วิธีป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมขึ้นในบ้านเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ซึ่งเรียกว่าอปริหานิย-ธรรม ๗ คือ ธรรมะอันเป็นเหตุไม่ให้เกิดความเสื่อม มีดังนี้
๑) หมั่นประชุมกันเนื่องนิตย์ การประชุมเป็นการปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และควรยอมรับในเหตุผลที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ เพื่อนำไปเป็นหลักในการบริหารบ้านเมืองต่อไป
๒) พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และทำกิจที่ควรทำ การประชุมปรึกษากันนั้น หากมาไม่พร้อมเพรียงกัน ข้อตกลงที่มีขึ้นอาจไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ที่ไม่เข้าประชุมก็ได้ การตรงต่อเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเลิกประชุมก็ต้องเลิกพร้อมกัน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมาได้ เช่น ความคิดเห็นของบางคนไม่ได้รับการพิจารณา หรือพิจารณาแล้วไม่ยอมรับ เป็นต้น ส่วนกิจกรรมของบ้านเมืองนั้นก็ต้องปฏิบัติด้วยความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจึงจะช่วยให้กิจกรรมนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
๓) ไม่บัญญัติหรือเลิกล้มข้อบัญญัติตามอำเภอใจ ความสงบสุขของบ้านเมืองจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยระเบียบและกฎเกณฑ์และประชาชนร่วมมือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น ไม่ล้มเลิกหรือร่างระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองโดยปราศจากการยอมรับของผู้อื่น เพราะกฎเกณฑ์เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน เช่น การข้ามถนนตรงทางข้าม ซึ่งเป็นที่รู้และเข้าใจกันทั้งคนขับรถและคนข้าม แต่ถ้าคนข้ามไม่ข้ามถนนในทางข้ามก็อาจจะถูกรถชนได้ เพราะคนขับรถจะคิดว่ายังไม่ถึงทางข้ามก็เลยไม่ลดความเร็ว เป็นต้น การปฏิบัติตามกฎจราจรนอกจากจะทำให้การจราจรคล่องตัวแล้ว ยังช่วยลดอุบัติเหตุได้อีกด้วย
๔) เคารพและรับฟังความเห็นของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้ที่เกิดก่อนเรา ผ่านประสบการณ์มามาก ได้ทำคุณประโยชน์นานัปการให้แก่บ้านเมือง และยังช่วยรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดมาได้จนปัจจุบัน ชนรุ่นหลังจึงควรให้ความเคารพและเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน การรับฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่นับเป็นสิ่งดีไม่ทำให้เสียหายอย่างไร แต่จะยึดถือปฏิบัติตามหรือไม่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการใช้ปัญญาไตร่ตรอง พิจารณาความเหมาะสมหรือทดลองปฏิบัติดู เพราะการรับฟังแล้วนำมาไตร่ตรองนั้นมีแต่ผลดี เด็กบางคนมักจะมองผู้ใหญ่ว่ามีความคิดล้าสมัยไม่ทันเหตุการณ์ โดยหาได้คิดว่าการเปลี่ยนแปลง
ที่เร่งร้อนเกินไป อาจเกิดความเสียหายจนเกินกว่าจะแก้ไขได้ การฟังคำทักท้วงของผู้ใหญ่แล้วรู้จักใช้ปัญญาตัดสินจึงมีแต่ผลดีทั้งต่อตัวเราและส่วนรวม
๕) ไม่ข่มเหงหรือฉุดคร่าสตรี สตรีถือเป็นเพศที่อ่อนแอ เป็นตัวแทนของความสวยงาม
บุรุษจึงควรให้เกียรติและให้การทะนุถนอม การที่ผู้ชายซึ่งแข็งแรงกว่าทำร้ายสตรีด้วยการฉุดคร่าอนาจารถือเป็นภัยที่ร้ายแรงของสังคม เพราะนอกจากจะทำให้เสียหายได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือทำให้จิตใจเสื่อมโทรมแล้ว ยังทำให้คนรักไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง พลอยได้รับความเจ็บปวดและกระทบกระเทือนใจไปด้วย
๖) เคารพสักการบูชาเจดีย์ คือ การให้ความเคารพและปกปักรักษาสิ่งที่ควรบูชา ในสมัยปัจจุบันหมายรวมถึงอนุสาวรีย์ของผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง สำหรับเจดีย์นั้น เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเพื่อกระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธองค์
๗) ให้ความอารักขาแก่พระอรหันต์ พระอรหันต์ในที่นี้หมายรวมถึงบรรพชิตผู้ทรงธรรมและปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีของคนทั่วไป นอกจากนั้นยังสั่งสอนคนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี เราจึงช่วยกันรักษาท่านไว้ไม่ทำลายหรือปล่อยให้ผู้อื่นมาลำลายท่าน
๖. สัปปุริสธรรม ๗
การกล่าวถึงชื่อคนประเภทต่าง ๆ เช่น คนพาล บัณฑิต พุทธมามกะ อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุสามเณร พุทธศาสนิกชน ปุถุชน อริยชน และชื่ออื่น ๆ อีกมาก เป็นการร้องเรียกแยกประเภทตามวัตรปฏิบัติหรือความประพฤติของบุคคลเหล่านั้น
วิธีแยกประเภทคนขั้นมูลฐาน คือแยกขั้นต้นตามทรรศนะของพระพุทธศาสนา คือแยกคนออกเป็น ๒ พวก ได้แก่
ก. สัตบุรุษ คนดี
ข. อสัตบุรุษ คนไม่ดี
ที่ว่าดีหรือไม่ดีนี้ว่าตามทรรศนะของศาสนาพุทธ ที่พระพุทธเจ้าระบุไว้ หรือจะพูดสั้น ๆ ว่าตามพุทธนิยมก็ได้
ประโยชน์ของการศึกษาสัปปุริสธรรม คือ
๑. เราจะได้ปรับปรุงตัวเองให้ถูกแบบที่ดี
๒. มีคำสอนอยู่มากในศาสนา สอนให้เราคบหาสมาคมกับสัตบุรุษ เราก็จะได้รู้ว่าคน-
อย่างไรเป็นสัตบุรุษ
๓. มักมีคนตำหนิติเตียนว่าคนที่ปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธศาสนาเป็นคนครึ เซ่อซ่า
น่ารังเกียจในสังคมสมัยใหม่ เมื่อศึกษาเรื่องนี้แล้วเราจะตัดสินใจได้เองว่า คำติเตียนนั้นจริงหรือไม่จริง
ข้อขีดคั่นระหว่างศาสนิกชน
พระพุทธศาสนาประกอบด้วยผู้นับถือจำนวนมากมายประมาณ ๕๐๐ ล้านคนทั่วโลก คนเหล่านี้เรียกว่า พุทธศาสนิกชน ทั้งสิ้น แต่คนเหล่านี้ก็มิใช่จะเป็นคนดีทุกคน เรานับรวมหมดทั้งที่เป็นคนดีและคนชั่ว คนพาลเกเร กระทั่งเป็นโจรมหาโจรก็มี รวมอยู่ในนี้ เพราะแม้เขาจะชั่วช้าอย่างเขาก็ยังนับถือศาสนานี้อยู่ ยังไม่ขาดจากศาสนา เราก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นพุทธศาสนิกชน แต่เราแยกเรียกเฉพาะ ศาสนิกชนที่ดีว่า “ สัตบุรุษ”
ฉะนั้น คำว่า สัตบุรุษ จึงพอเทียบได้กับคำว่า พลเมืองดี
และเมื่อพระพุทธองค์ทรงจำกัดไว้ว่า มีคนพวกหนึ่งเป็นสัตบุรุษ ก็เป็นอันส่องความใน มุมกลับว่า ยังมีคนอีกพวกหนึ่งเป็น อสัตบุรุษคือคนไม่ดีอยู่
ธรรมของสัตบุรุษ
ธรรมะของสัตบุรุษ มีอยู่ ๗ ข้อ ทั้ง ๗ ข้อนี้ เป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ เป็นเครื่องหมายว่าผู้นั้นเป็นสัตบุรุษ ใครก็ตามไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ถ้ามีคุณสมบัติ ๗ ประการนี้ ผู้นั้นเป็นสัตบุรุษ แต่ถ้าขาดคุณสมบัติ แม้ว่าจะเป็นคนมีชาติสกุล มีวิทยฐานะสูง มียศศักดิ์อัครฐาน มั่งมีเงินทองสักปานใด ก็ไม่เรียกว่า สัตบุรุษ
ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี มี ๗
ประการ คือ
๑. ธัมมัญญุตา ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือรู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ
รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎ แห่งธรรมชาติ รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่า
หลักธรรมข้อนั้น ๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ ทรงทราบว่า หลักการปกครองตาม
ราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ ๆ
จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้น ๆ เป็นต้น
๒. อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมายหรือรู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้
ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไป
ตามหลัก เช่นรู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้น ๆ มีความหมายอย่างไร หลักนั้น ๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้ หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น
๓. อัตตัญญุตา ความรู้จักตน คือรู้ว่าเรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้
ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสมและรู้ที่
จะแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป
๔. มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและ
บริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาลรู้จักประมาณในการลงทัณฑ์อาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น
๕. กาลัญญุตา ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสมและระยะเวลาที่จะต้องใช้ใน
การประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลาเป็นต้น
๖. ปริสัญญุตา ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติ
ต่อชุมชนนั้น ๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์
อย่างนี้ เป็นต้น
๗. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถและคุณธรรม เป็นต้น ใคร ๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น ๆ ด้วยดีว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น
๖. จักรวรรดิวัตร ๕
๖.๑ ธรรมธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่
๖.๒ ธรรมิการักขา ให้ความคุ้มครองโดยธรรม
๖.๓ มา อธรรมการ ห้ามกั้นการอันอาธรรม์
๖.๔ ธนานุประทาน ปันทรัพย์เฉลี่ยแก่ชนผู้ไร้ทรัพย์
๖.๕ สมณพราหมณปริปุจฉา สอบถามปรึกษาพระสงฆ์ และนักปราชญ์ราชบัณฑิตเป็นต้น
๓. กฎแห่งกรรม
ความหมายและความสำคัญของเรื่องกรรม
กรรมแปลตามศัพท์ว่า การกระทำหรือการงาน แต่ในทางธรรม หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาหรือการกระทำที่มีความจงใจดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “เจตนาหัง ภิกขะเว กัมมัง วะทามิ” แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเอง เราเรียกว่า กรรม” ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีจเตนา ไม่มีความจงใจก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม
พระพุทธศาสนาบางครั้งได้ชื่อว่า “กัมมวาท” คือศาสนาที่สอนเรื่องกรรม แม้พระพุทธองค์ก็ได้พระนามว่า “กัมมวาที” คือผู้ทรงสอนเรื่องกรรม ฉะนั้น ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา หากยังไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ก็ยังไม่ได้ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ประเภทของกรรม
จำแนกตามคุณภาพหรือตามมูลเหตุแห่งการกระทำมี ๒ อย่างคือ
๑) กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล การกระทำที่ดี ซึ่งกระทำจากมูลเหตุที่ดีที่เรียกว่า กุศลมูล คือ อโลภะ ความไม่โลภ อโทสะ ความไม่โกรธ หรือ อโมหะ ความไม่หลงงมงาย
๒) อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล การกระทำที่ไม่ดี ซึ่งกระทำจากมูลเหตุที่ชั่วที่เรียกว่า อกุศลมูล คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ หรือ โมหะ ความหลงงมงาย
ข. จำแนกตามทวาร คือทางที่แสดงออกของการกระทำ มี ๓ อย่าง คือ
๑) กายกรรม การกระทำทางกาย
๒) วจีกรรม การกระทำทางวาจา
๓) มโนกรรม การกระทำทางใจ
ค. กรรม ๑๒ ตามที่แสดงไว้ในอรรถกถาและฎีกาทั้งหลาย ดังนี้
หมวดที่ ๑ จำแหนกตามเวลาที่ให้ผล (โดยปากกาล)
๑) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันในภพนี้ คือกรรมดีชั่วที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงแรก กรรมนี้ถ้าไม่มีโอกาสให้ผลในชาตินี้ก็กลายเป็นอโหสิกรรม ไม่มีผลต่อไป
๒) อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า คือกรรมดีชั่วที่กระทำในขณะแห่งชวนจิตดวงสุดท้าย กรรมนี้ให้ผลเฉพาะในชาติถัดจากนี้ไปเท่านั้น ถ้าไม่มีโอกาส
ให้ผลในชาติหน้าก็กลายเป็นอโหสิกรรม
๓) อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป กรรมนี้ให้ผลได้เรื่อยไปในอนาคต เมื่อเลยจากภพหน้าไปแล้ว คือได้โอกาสเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น ไม่เป็นอโหสิกรร ตราบเท่าที่ยังอยู่ในสังสารวัฎ
๔) อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล คือกรรมที่ไม่มีโอกาสที่จะให้ผลในเวลาที่จะออกผลได้ เมื่อผ่านล่วงเวลานั้นไปแล้ว ก็ไม่ให้ผลอีกต่อไป
หมวดที่ ๒ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่ (โดยกิจ)
๕) ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำให้เกิด สามารถให้เกิดวิบากเอง
๖) อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน ซึ่งไม่สามารถให้เกิดวิบากเอง แต่จะทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม
๗) อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับชนกกรรม ทำหน้าที่บีบคั้นมิให้ผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปรียบทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน
๘) อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมที่ตรงกันข้ามกับชนกกรรมและอุปัตตัมภกกรรมที่มีกำลังแรง เข้าตัดรอนกรรมที่มีกำลังน้อยกว่าเสีย ห้ามวิบาก (ผล) ของกรรมอื่น แล้วเปิดช่องให้แก่วิบากของตน
หมวด ๓ จำแนกตามความแรงในการให้ผล (โดยปากทานปริยาย)
๙) ครุกกรรม กรรมหนักที่มีผลแรงมาก ฝ่ายดีได้แก่สมาบัติ ๘ ฝ่ายชั่วได้แก่ อนันตริยกรรม (กรรมหนัก) มีฆ่ามารดา เป็นต้น จะให้ผลก่อนและครอบงำกรรมอื่น ๆ เสีย
๑๐) พหุลกรรมหรืออาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน กระทำบ่อย ๆ สั่งสมจนเคยชินเป็นนิสัย กรรมนี้ถ้าไม่มีครุกกรรมจึงจะให้ผล
๑๑) อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมที่ระลึกได้ในเวลาใกล้ตาย ถ้าไม่มีกรรม ๒ ข้อก่อนนี้ก็จะให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ
๑๒) กตัตตากรรม หรือกตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่ากระทำ คือ กรรมที่ทำด้วยเจตนา อันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น โดยตรง เป็นกรรมที่เบา ถ้าไม่มีกรรม ๓ ข้อก่อน กรรมนี้จึงจะให้ผล
การให้ผลของกรรม
คำกล่าวที่ชาวพุทธนิยมพูดเรื่องการให้ผลของกรรมคือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นี้มาจากพุทธศาสนสุภาษิต ซึ่งนับว่าเป็นข้อความที่แสดงหลักกรรมได้อย่างกระทัดรัดชัดเจน ว่า
“ยาทิสัง วะปะเต พีชัง ตาทิสัง ละภะเต ผะลัง
กัลยาณะการี กัลยาณัง ปาปะการี จะ ปาปะกัง”
“หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำดีได้ดี ผู้ทำชั่วได้ชั่ว)
เกณฑ์ตัดสินกรรมดีหรือชั่ว
ก. เกณฑ์หลัก
ตัดสินด้วยพิจารณาจากมูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล ถือว่าเป็นกรรมดี หรือเป็นเจตนาที่เกิดจากอกุศลมูล ถือว่าเป็นกรรมชั่ว และพิจารณาตามสภาวะว่า เป็นสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ ส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพจิตช่วยให้กุศลธรรมเจริญงอกงามขึ้นถือว่าเป็นกรรมดี ถ้าบั่นทอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิตถือว่าเป็นกรรมชั่ว
ข. เกณฑ์ร่วม
๑) ใช้มโนธรรมคือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองพิจารณาว่า การที่กระทำนั้นตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ เสียความเคารพตนเองหรือไม่
๒) พิจารณาความยอมรับของวิญญูชนหรือนักปราชญ์ว่า ท่านเหล่านั้นยอมรับชื่นชมสรรเสริญหรือตำหนิติเตียน
๓) พิจารณาลักษณะและผลของการกระทำที่มีต่อตนเองและผู้อื่น ว่าเป็นการเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่นหรือไม่
หลักการบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา
ความหมายของ บุญ – บาป
มีคนอยู่ไม่น้อยเข้าใจว่า บุญเป็นวัตถุอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งแห่ล้อมไปกับผู้มีบุญ คอยให้ผลอย่าง
มากมายในชาติหน้า และบาปก็เป็นวัตถุอีกชนิดหนึ่ง หรือเป็นบันทึกโทษที่ยมบาลได้จารึกไว้ ความจริง บุญคือความดีแห่งจิต และบาปก็คือความเสียหายแห่งจิตนั่นเอง หมายความว่า คำว่า บุญ ได้แก่ สภาพจิตที่ดีขึ้น เจริญขึ้น ประณีตขึ้น ส่วนคำว่า บาป ได้แก่ สภาพของจิตที่ต่ำทรามลงไป เสื่อมลง บุญคือ ความสะอาดแห่งจิต เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษย์มาก เพราะเมื่อจิตสะอาดแล้วจะรู้สึกปลอดโปร่ง สดชื่น เบาสบาย เป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตไปอย่างราบรื่น ทั้งยังเป็นพลังสำคัญเป็นการส่งจิตเข้าสู่คติอันดี เมื่อออกจากร่างนี้ไปแล้ว
การทำบุญในพระพุทธศาสนา เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ มี ๒ นัย คือ
๑. บุญกิริยาวัตถุ ๓
๒. บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
๑. บุญกิริยาวัตถุ ๓ (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ หลักการทำความดี)
๑.๑ ทานมัย ทำบุญด้วยการให้เป็นสิ่งของ
๑.๒ ศีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีล รักษากายวาจาใจ
๑.๓ ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ
๒. บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
๒.๑ ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้เป็นสิ่งของ
๒.๒ ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๒.๓ ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ
๒.๔ อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
๒.๕ เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยทำกิจที่ชอบหรือช่วยขวนขวายรับใช้
๒.๖ ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญเฉลี่ยความดีให้ผู้อื่น
๒.๗ ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญยินดีในความดีของผู้อื่น
๒.๘ ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
๒.๙ ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้
๒.๑๐ ทิฎฐุชุกัมม์ บุญสำเร็จด้วยการ ทำความเห็นให้ตรง
ความหมายและจำนวนของวิธีการทำบุญ
บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า วิธีทำบุญ หมายความว่า บุญคือความสะอาดของจิต หรือคุณภาพอันดีของจิต เราจะทำได้ด้วยวิธีเหล่านี้คือ ทำด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และข้ออื่นๆ ทั้งหมดนี้คือ วิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา
การทำบุญ หลักใหญ่ ๆ มีเพียง ๓ วิธีคือ การให้ทาน, การรักษาศีล, และการเจริญภาวนา จุดมุ่งหมายเพื่อขจัดกิเลส ๓ ตระกูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนที่มีการจัดให้มีบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั้น ท่านขยายออกจากบุญกิริยาวัตถุ ๓ นั่นเอง
หลักการทำบุญ ๓ วิธี
เนื่องจากหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนา โดยสรุปมีเพียง ๓ วิธีคือ การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา ฉะนั้นในที่นี้จะอธิบายเฉพาะบุญกิริยาวัตถุ ๓ พอเป็นแนวทางโดยย่อ ดังนี้
๑. ทาน การให้
- ความมุ่งหมายของการบำเพ็ญทาน
- ข้อควรทราบในการบำเพ็ญทาน
- ผลทาน
ความหมายของการบำเพ็ญทาน
คำว่า ทาน ในทางธรรมะท่านกล่าวถึงหลายแห่ง โดยสรุปมีความมุ่งหมาย ๒ ประการคือ.-
ก. ทาน = การให้มุ่งฟอกกิเลสภายในของผู้ให้
ข. ทาน = การให้มุ่งสงเคราะห์ผู้รับ
ทาน การให้ในบุญกิริยาวัตถุนี้มีความมุ่งหมายในประการแรก คือ ให้เพื่อฟอกกิเลสในใจของผู้ให้
ข้อควรทราบในการบำเพ็ญทาน
๑. ทานสมบัติ คุณสมบัติของทาน ๓ ประการ คือ
ก. วัตถุ คือ ของที่จะให้ทาน ต้องได้มาโดยสุจริต
ข. เจตนา คือ ความตั้งใจที่จะทำบุญเสียสละ มิใช่มุ่งอย่างอื่น
ค. บุคคล คือ บุคคลผู้ให้และผู้รับเป็นคนดีมีศีลธรรม
๒. ทานวิธี วิธีถวายทาน ๒ ประการ คือ
ก. บุคลิกทาน การให้เจาะจงบุคคล
ข. สังฆทาน การให้ไม่เจาะจงบุคคล ให้เพื่อส่วนรวม
ผลทาน
๓.๑ ผลโดยตรง
ผลโดยตรงของการให้ทานคือ ทำใจให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากการรบกวนของกิเลสข้อ โลภะ คือ ความโลภ
๓.๒ ผลโดยอ้อม
ผลโดยอ้อม ได้แก่ การอุทิศผลของการถวายทานนั้นไปให้ผู้ที่ล่วงลับแล้ว ซึ่งถือปฏิบัติกันอยู่ในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ความรู้เบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับทาน
๑. ทาน ๒ อย่าง คือ
ก. อามิสทาน ให้สิ่งของต่าง ๆ
ข. ธรรมทาน ให้ธรรมเป็นทาน
๒. ทาน ๓ ชั้น
ก. ทาสทาน ให้อย่างดูหมิ่น หรือให้อย่างให้คนใช้
ข. สหายทาน ให้โดยขาดคารวะเหมือนให้แก่เพื่อน
ค. สามิทาน ให้ด้วยความเคารพเหมือนให้แก่นาย
๒. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ข้อที่ควรศึกษาในเรื่องของศีล ๔ ประการ คือ
- ความหมายของศีล
- ประเภทของศีล
- ผลของการรักษาศีล
- วิรัติ
ความหมายของศีล
คำว่า ศีล แปลว่า ปกติ ที่ว่า “ รักษาศีล “ ก็คือ ตั้งใจรักษาปกติของตนนั่นเอง
คำว่า “ศีล” แปลว่า ปกติ หมายเอา เฉพาะศีล ๕ ส่วนศีลที่สูงกว่านั้นมีความหมายต่าง ออกไป
คือ หมายถึง วัตรหรือ พรต เพราะเป็นการบำเพ็ญวัตรชั้นสูง เกินกว่าปกติของคนทั่วไป
ประเภทของศีล
๑. ศีล ๕
๒. ศีล ๘
๓. ศีล ๑๐
๔. ศีล ๒๒๗
๕. ศีล ๓๑๑
ผลการรักษาศีล
๑. ผลทางส่วนตัว
๒. ผลทางอ้อม
๓. ผลทางประเทศชาติ
วิรัติ (การงดเว้น)
๑. สมาทานวิรัติ เจตนางดเว้นด้วยการสมาทานศีลไว้ล่วงหน้า
๒. สัมปัตตวิรัติ เจตนางดเว้นเมื่อเผชิญกับเหตุที่จะทำให้ผิดศีล
๓. สมุจเฉทวิรัติ เจตนางดเว้นเด็ดขาดของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว
๓. ภาวนาและการเจริญภาวนา
มีคนเป็นจำนวนมากเข้าใจว่า คำว่า ภาวนา หมายถึง การนั่งสมาธิ หลับตา แล้วก็ว่าคำบริกรรมที่เรียกว่า นั่งภาวนา จึงทำให้เห็นไปว่า ภาวนา เหมาะกับคนแก่
ที่จริง คำว่า ภาวนา มีความหมายทั้งเบื้องต่ำ เบื้องสูง ซึ่งเมื่อสรุปแล้ว คำว่า ภาวนามีความหมาย ๔ ประการ คือ
๑. การศึกษา
๒. การทำงานด้วยการพินิจพิเคราะห์
๓ . การทำจิตให้สงบ (สมถภาวนา)
๔. การพิจารณาไตรลักษณ์ ( วิปัสสนาภาวนา)
๑. การศึกษา
- การเรียน
- การอ่านหนังสือ
- การฝึกฝน
- การฟังเทศน์
- การไปดูงาน
- การไปชมศิลป์
- สนทนาหาความรู้
- ถามเอาความรู้
- จดบันทึก
- แต่งหนังสือ ฯลฯ
๒. การทำงานด้วยพินิจพิเคราะห์
- รู้จักเลือกทำแต่งานที่เป็นประโยชน์
- รู้จักวางแผนงานให้เหมาะเจาะ
- รู้จักปรับปรุงงานให้ดีขึ้น
- รู้จักค้นคว้าทำงานให้ดีขึ้น
- รู้จักตรวจตรางาน
- รู้จักทำงานถูกกาลเทศะ
๓. ประเภทของภาวนา ๒ ประเภท คือ
ก. สมถะ หมายถึง การทำสมาธิให้ใจสงบ
ข. วิปัสสนา หมายถึง การใช้ปัญญาพิจารณาสังขาร
การทำใจให้สงบ (สมถภาวนา) หมายถึง การทำจิตให้สงบได้แก่ การทำใจให้สงบนิ่งเป็นอารมณ์เดียว ไม่วอกแวกฟุ้งซ่านไปทางอื่น
วิธีทำสมถะ ได้แก่ การนั่งขัดสมาธิตั้งตัวตรง มือทั้งสองวางที่ตัก เอามือขวาทับมือซ้าย ปล่อยส่วน ต่าง ๆ ของร่างกายให้เลือดลมเดินสบาย หลับตา แล้วนึกบริกรรมอารมณ์ของสมถะ ๔๐ อย่าง
อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น “พุทโธ ๆ ๆ” จนจิตตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่านไปทางอื่นหรือไปในอารมณ์อื่นเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ
การพิจารณาไตรลักษณ์
- ได้แก่ การเจริญภาวนาตามหลักของสติปัฏฐาน ๔ คือ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งเรียกว่า การเจริญวิปัสสนาภาวนา
- การเจริญวิปัสสนา คือ การใช้ปัญญาเข้าไปวิจัยใน “ตัวตนของเรา” นั้น ความจริงมันเป็นอนัตตา คือ ไม่เป็นตัวตนเราเขา ในที่สุดจะเกิดความเบื่อหน่าย หมดความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งถือว่า เป็นเป้าหมายของการเจริญวิปัสสนาภาวนาหลักการบำเพ็ญในพระพุทธศาสนา
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายให้เรืองปัญญา คือเกิดปัญญาเห็นแจ้ง หมายความว่าเห็นปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ และเห็น มรรค ผล นิพพาน
การเรียนวิปัสสนากรรมฐานนั้นเรียนได้ ๒ อย่าง คือ
๑. เรียนอันดับ
๒. เรียนสันโดษ
การเรียนอันดับ คือการเรียนให้รู้จัก ขันธ์ ๕ ว่า ได้แก่อะไรบ้าง ย่อให้สั้นในทางปฏิบัติเหลือ เท่าใด ได้แก่อะไร เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วอะไรจะเกิดตามมาอีก จะกำหนดตรงไหนจึง จะถูกขันธ์ ๕ เมื่อกำหนดถูกแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้างเป็นต้น นอกจากนี้ก็ต้องเรียนให้รู้เรื่องในอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ โดยละเอียดเสียก่อน เรียกว่าเรียนภาคปริยัติวิปัสสนาภูมินั่นเอง แล้วจึงจะลงมือปฏิบัติได้
การเรียนสันโดษคือการเรียนย่อ ๆ สั้น ๆ สอนเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติเท่านั้น เรียนชั่วโมงนี้ก็ปฏิบัติชั่วโมงนี้เลย เช่น สอนการเดินจงกรม สอนวิธีนั่งกำหนด สอนวิธีกำหนดเวทนา สอนวิธีกำหนดจิต แล้วลงมือปฏิบัติเลย
หลักใหญ่ในการปฏิบัติวิปัสสนาฯ มีหลักอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
๒. สติมา มีสติ คือระลึกอยู่เสมอว่าขณะนี้เราทำอะไร
๓. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ คือ ขณะทำอะไรอยู่นั้นต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
วิธีปฏิบัติ
๑. การเดินจงกรม ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลังมือขวาจับข้อมือซ้ายวางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่ปลายผม กำหนดว่า ยืนหนอ ช้า ๆ ๕ ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะกลับขึ้นกลับลงจนครบ ๕ ครั้ง แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรก คำว่ายืนจิตวาดมโนภาพร่างกายจากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือลงไปปลายเท้า กำหนดขึ้นคำว่า ยืน, จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือขึ้นไปปลายผม กำหนด กลับไป, กลับมา จนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกไปนอกกาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้าทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๔ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า ขวา ย่าง หนอ กำหนดในใจ คำว่า ขวา ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อมกัน ย่าง ต้องก้าวเท้าขวา ไปข้างหน้าช้าที่สุดเท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่า หนอ เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า ซ้าย ย่าง หนอ คงปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ ขวา ย่าง หนอ ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบเป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน เงยหน้าหลับตา กำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้งเหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า กลับ หนอ ๔ ครั้ง คำว่ากลับหนอครั้งที่หนึ่ง ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าหมุนตัวไปทางขวา ๙๐ องศา ครั้งที่ ๒ ลากเท้าซ้ายมาติดกับเท้าขวา ครั้งที่ ๓ ทำเหมือนครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ ขณะนี้จะอยู่ในท่ากลับหลังแล้วต่อไปกำหนด ยืน หนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง ลืมตาก้มหน้าแล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ต้องการ
๒. การนั่ง กระทำต่อจากการเดินจงกรมอย่าให้ขาดตอนลง เมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนด ยืน หนอ อีก ๕ ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่าปล่อยมือหนอๆๆๆ ช้า ๆ จนกว่าจะลงสุด เวลานั่งค่อย ๆ ย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดตามอาการที่ทำไปจริง ๆ เช่น ย่อตัวหนอๆๆๆ เท้าพื้นหนอๆๆๆ คุกเข่าหนอๆๆๆ นั่งหนอๆๆๆ เป็นต้น
วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่สะดือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า พอง หนอ ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือ หลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบ หนอ ใจนึกกับท้องที่ยุบต้องทันกันอย่าให้ก่อนหรือหลังกัน ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่ พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้อง ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาทางหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบนท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด
เมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติแน่นอนจะต้องมีความอดทนเพื่อเป็นการสร้างขันติบารมีไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้วการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว
ในขณะที่นั่งหรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาความเจ็บปวด เมื่อย คัน ๆ เกิดขึ้น ให้หยุดเดินหรือหยุดกำหนดพองยุบให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่าปวดหนอ ๆ ๆ ๆ เจ็บหนอ ๆๆๆ เมื่อยหนอ ๆ ๆ ๆ คันหนอ ๆ ๆ ๆ เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ก็ให้กำหนดนั่งหรือเดิน ต่อไป
จิต เวลานั่งอยู่หรือเดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สิน หรือคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ นานา ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่ พร้อมกับกำหนดว่า คิดหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ ก็กำหนดเช่นกันว่า ดีใจหนอ ๆ ๆ ๆ เสียใจหนอ ๆ ๆ ๆ โกรธหนอ ๆ ๆ ๆ เป็นต้น
เวลานอน เวลานอนค่อย ๆ เอนตัวนอนพร้อมกับกำหนดตามไปว่านอนหนอๆๆๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับอยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติจับที่ท้อง แล้วกำหนดว่า พอง หนอ ยุบ หนอ ต่อไปเรื่อย ๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่าจะหลับไป ตอนพอง หรือตอนยุบ
อิริยาบถต่าง ๆ การเดินไปในที่ต่าง ๆ การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหาร และการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้ปฏิบัติต้องมีสติกำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง คือ มีสติ สัมปชัญญะ เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
หมายเหตุ การเดินจงกรมนั้น เราทำการเดินได้ถึง ๖ ระยะ การเดินระยะต่อไปนั้นจะต้องเดิน ระยะที่ ๑ ให้ถูกต้องคือ ได้ปัจจุบันธรรมจริง ๆ จึงจะเพิ่มระยะต่อไปให้ตามผลของการปฏิบัติแต่ละบุคคล กำหนดเดินระยะต่าง ๆ ดังนี้
ท่าเดิน ระยะที่ ๑ ขวาย่างหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๒ ยกหนอ เหยียบหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๓ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๔ ยกซ่นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๕ ยกซ่นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ
ท่าเดิน ระยะที่ ๖ ยกซ่นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ
สรุปการกำหนดต่าง ๆ พอสังเขป ดังนี้
๑. ตาเห็นรูป จะหลับตาหรือลืมตาก็แล้วแต่ ให้ตั้งสติไว้ที่ตา กำหนดว่า เห็นหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้ ถ้าหลับตาอยู่ก็กำหนดไปจนกว่าภาพนั้นจะหายไป
๒. หูได้ยินเสียง ให้ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า เสียงหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกเสียงก็สักแต่ว่าเสียง ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๓. จมูกได้กลิ่น ตั้งสติไว้ที่จมูก กำหนดว่า กลิ่นหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ากลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๔. ลิ้นได้รส ตั้งสติไว้ที่ลิ้น กำหนดว่า รสหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ารสก็สักแต่ว่ารส ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๕. การถูกต้องสัมผัส ตั้งสติไว้ตรงที่สัมผัส กำหนดตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๖. ใจนึกคิดอารมณ์ ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า คิดหนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าความนึกคิดจะหายไป
๗. อาการบางอย่างเกิดขึ้นกำหนดไม่ทัน หรือกำหนดไม่ถูกว่าจะกำหนดอย่างไร ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า รู้หนอๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการนั้นจะหาย
การที่เรากำหนดจิต และตั้งสติไว้เช่นนี้ เพราะเหตุว่าจิตของเราอยู่ใต้บังคับของความโลภ
ความโกรธ ความหลง เช่น ตา เห็น รูป ชอบใจเป็นโลภะ ไม่ชอบใจเป็นโทสะ ขาดสติไม่ได้กำหนดเป็นโมหะ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ก็เช่นเดียวกัน
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับตามอายตนะนั้น เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าตัดที่ต่อของอายตนะต่าง ๆ เหล่านั้นมิให้ติดต่อกันได้ คือว่าเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ทำความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งให้เกิดความพอใจหรือความไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฎ ให้เห็นและได้ยินนั้น รูป และเสียง ที่ได้เห็นและได้ยินนั้นก็จะดับไป เกิดและดับอยู่ที่นั้นเองไม่ไหลเข้ามาภายใน อกุศลธรรมความทุกข์ร้อนใจที่คอยจะติดตาม รูป เสียง และอายตนะภายนอกอื่น ๆ เข้ามาก็เข้าไม่ได้
สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นอกุศลธรรมและความทุกข์ร้อนใจที่จะเข้ามาทางอายตนะแล้ว สติเพ่งอยู่ที่ รูป นาม เมื่อเพ่งเล็งอยู่ก็ย่อมเห็นความเกิดดับของ รูป นาม นั้นจะนำไปสู่การเห็นพระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตนของสังขารหรือ อัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง
สติปัฎฐาน ๔
มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า เราจะปฏิบัติธรรมในแนวไหน หรือสำนักใดจึงจะเป็นการถูกต้องและ ได้ผล คำถามเช่นนี้เป็นคำถามที่ถูกต้องและไม่ควรถูกตำหนิว่าชอบเลือกนั่นเลือกนี่ ที่ถามก็เพื่อระวังไว้ ไม่ให้เดินทางผิด ทางปฏิบัติที่ถูกต้องคือปฏิบัติตามสติปัฎฐาน ๔
สติปัฎฐาน ๔ แปลให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือฐานที่ตั้งของสติ หรือ เหตุปัจจัย สำหรับปลูกสติให้เกิดขึ้นในฐานทั้ง ๔ คือ
๑. กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือการพิจารณากายจำแนกโดยละเอียดมี ๑๔ อย่าง คือ
๑. อัสสาสะปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าออก
๒. อิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน
๓. อิริยาบถย่อย การก้าวไปข้างหน้า ถอยไปทางหลัง คู้ขาเข้า เหยียดขาออก งอแขนเข้า เหยียดแขนออก การถ่ายหนัก ถ่ายเบา การกิน การดื่ม การเคี้ยว ฯลฯ คือการเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ
๔. ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย (อาการ ๓๒)
๕. การกำหนดร่างกายเป็นธาตุ ๔
๖. ป่าช้า ๙
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือการเจริญสติเอาเวทนาเป็นที่ตั้ง
เวทนา แปลว่าการเสวยอารมณ์มี ๓ อย่างคือ
๑. สุขเวทนา ๒. ทุกขเวทนา ๓. อุเบกขาเวทนา
เมื่อเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้สติสัมปชัญญะกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า เวทนานี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่ยินดียินร้าย ตัณหาก็จะไม่เกิดขึ้นและปล่อยวางเสียได้ เวทนานี้เมื่อเจริญให้มาก ๆ เป็นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว อาจทำให้ทุกขเวทนาลดน้อยลงหรือไม่มีอาการเลยก็เป็นได้ อย่างที่เรียกกันว่าสามารถแยก รูป นามออกจากกันได้ (เวทนาอย่างละเอียด ๙ อย่าง)
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน ได้แก่ การปลูกสติโดยเอาจิตเป็นอารมณ์หรือเป็นฐานที่ตั้งจิตนี้มี ๑๖ คือ
จิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน
จิตยิ่งใหญ่ (มหัคคตจิต) จิตไม่ยิ่งใหญ่ (อมหัคคตจิต)
จิตยิ่ง (สอุตตรจิต) จิตไม่ยิ่ง (อนุตตรจิต)
จิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้น
การทำวิปัสสนาให้มีสติพิจารณากำหนดให้เห็นว่า จิตนี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้ แน่นอน ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือมีสติพิจารณาธรรมทั้งหลายทั้งปวง คือ
๔.๑ นิวรณ์ คือรู้ชัดในขณะนั้นว่านิวรณ์ ๕ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร ให้รู้ชัดตามความเป็นจริง ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
๔.๒ ขันธ์ ๕ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ แต่ละอย่างคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร
๔.๓ อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่าง รู้ชัดในสังโยชน์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอายตนะนั้น ๆ รู้ชัดว่าสังโยชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร
๔.๔ โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นว่า โพชฌงค์ ๗ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจตนหรือไม่ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วเจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร
๔.๕ อริยสัจ ๔ คือ รู้ชัดอริยสัจ ๔ แต่ละอย่างตามความเป็นจริงว่าคืออะไร
สรุป ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน นี้ คือ จิต ที่คิดเป็น กุศล อกุศล และอัพยากฤต เท่านั้น ผู้ปฏิบัติสติปัฎฐาน ๔ ต้องทำความเข้าใจอารมณ์ ๔ ประการให้ถูกต้อง คือ
๑. กาย ทั่วร่างกายนี้ไม่มีอะไรสวยงามแม้แต่ส่วนเดียว ควรละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
๒. เวทนา สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์นั้น แท้จริงแล้วมีแต่ทุกข์ แม้เป็นสุขก็เพียงปิดบังความทุกข์ไว้
๓. จิต คือความคิดนึก เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแปรผันไม่เที่ยงไม่คงทน
๔. ธรรม คืออารมณ์ที่เกิดกับจิต อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยดับไปอารมณ์นั้นก็ดับ ไปด้วย ไม่มีสิ่งเป็นอัตตาใด ๆ เลย
ภาพแสดงสติปัฎฐาน ๔
สติปัฎฐาน ๔ ทั้ง ๔ ข้อ มีการเกี่ยวโยงกันตลอด ผู้ปฏิบัติชำนาญแล้ว จะปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ เพราะทุกข้อเมื่อปฏิบัติแล้วก็สามารถรู้ รูป นาม เกิด ดับ เห็นไตรลักษณ์ด้วยกันทั้งสิ้น
อานิสงส์ในการเดินจงกรม
๑. อดทนต่อการเดินทางไกล
๒. อดทนต่อความเพียร
๓. มีอาพาธน้อย
๔. ย่อยอาหารได้ดี
๕. สมาธิที่ได้ขณะเดินตั้งอยู่ได้นาน
๔. คุณค่าของพิธีกรรม
พิธีกรรมสื่อวินัย
ในพระพุทธศาสนานี้ สิ่งที่เหนือกว่าพิธีกรรมยังมีอีกหลายอย่าง แต่เดี๋ยวนี้เรามองเห็นกันว่าชาวพุทธใส่ใจในเรื่องที่สำคัญ ๆ เหล่านั้นน้อยไปหน่อย แล้วก็มัวไปเน้นในด้านพิธีกรรมกันมากไป อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าใจว่าเรื่องพิธีกรรมนั้นไม่ใช่ไม่สำคัญ ในบางโอกาสเราน่าจะพูดกันถึงเรื่องพิธีกรรมให้ชัดลงไปว่า เราควรจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร อย่างน้อยก็จะได้สิ่งที่เป็นอยู่ปรากฏอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นสื่อนำเข้าสู่สิ่งที่สำคัญยิ่งขึ้นไป
ถ้าเราไปมองว่าอย่าไปวุ่นวายในเรื่องพิธีกรรมนี้เลยไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริงของพระพุทธศาสนาแล้วเลยไม่เอาใจใส่ ก็อาจจะทำให้พลาด ในเมื่อมันเป็นของมีอยู่ปรากฏอยู่ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าเราเข้าใจความหมายถูกและปฏิบัติให้ถูก ทำด้วยความรู้ความเข้าใจ มันก็จะเป็นสื่อนำเข้าสู่สิ่งที่ถูกต้องดีงามยิ่งขึ้น จนถึงสิ่งที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นพิธีกรรมนี้ถ้าเข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง ก็จะกลับนำเข้าสู่พระพุทธศาสนาได้ดี
เวลานี้เรารู้สึกกั้นว่าพระพุทธศาสนาเสื่อม หลายคนบอกว่า “มันเสื่อมจนเหลือแต่พิธีกรรม แย่แล้วพระพุทธศาสนา” ทีนี่เรามองพลิกกลับเสียใหม่ว่า พระพุทธศาสนายังเหลือพิธีกรรมอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่หมดไปทีเดียว ยังคงเหลือพิธีกรรมเป็นรูปแบบอยู่ ตามธรรมดานั้นรูปแบบต้องมีเนื้อหาสาระจึงจะถูกต้อง เมื่อเหลือแต่รูปแบบไม่มีเนื้อหาสาระก็ไม่มีความหมายอะไร เหมือนกับคนถ้ามีแต่ร่างกายก็คือศพ เมื่อไม่มีจิตใจก็เหลือแต่ซาก
มองในแง่หนึ่ง พระพุทธศาสนาถ้าเหลือแต่พิธีกรรมจริง ๆ ก็คือเหลือแต่ซากแต่มองอีกแง่หนึ่งก็อาจจะเป็นได้ว่ามันไม่ใช่คนที่ตายก็ได้ มันอาจจะเป็นร่างที่หลับอยู่ ยังไม่ถึงตาย ร่างกายคนหลับทำอะไรไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่ตาย ชีวิตของเรายังต้องอาศัยมัน เมื่อยังมีร่างกายอยู่ก็ยังทำให้มันมีชีวิตกลับคืนมาได้ คือทำให้มันตื่นกลับขึ้นมา แล้วมันก็อาจจะเดินหน้าใหม่ได้
เพราะฉะนั้น พิธีกรรมนี้ในแง่หนึ่งก็เหมือนที่มั่นหรือปราการสุดท้ายของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามาถึงขณะนี้ก็จวนจะหมดแล้ว แต่ก็ยังมีป้อมค่ายสุดท้ายเหลืออยู่ ทำไมเราไม่อาศัยปราการสุดท้ายนี้เป็นที่ตั้งหลักให้ดีแล้วเดินหน้ากลับไปอีก
การที่ยังมีพิธีกรรมอยู่ ในแง่หนึ่งก็แสดงว่าพระพุทธศาสนายังไม่หมดไปสิ้นทีเดียว ทำอย่างไรเราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ เราไม่ควรจะมามัวทอดถอนใจตรอมใจว่า โอยจะหมดแล้ว พระพุทธศาสนามาถึงที่สุดแล้ว แต่ควรคิดว่า โอ้ พุทธศาสนายังเหลืออยู่นี่ ดีแล้วเราจะอาศัยส่วนที่เหลืออยู่นิดหน่อยนี้เป็นหลักในการเดินกลับไปสู่ความก้าวหน้าที่ถูกต้องใหม่ ถ้าคิดได้อย่างนี้ก็กลับเป็นดีไป เรียกว่ารู้จักมองให้เป็นประโยชน์ สิ่งทั้งหลายถึงแม้ว่าจะแย่แล้วแต่ถ้าเรามองเป็นก็กลับใช้ประโยชน์ได้
พิธีกรรมนี้มีประโยชน์หลายอย่าง พิธีกรรม แปลว่า การกระทำที่เป็นพิธี คือเป็นวิธีที่จะให้สำเร็จผลที่ต้องการ หรือการกระทำที่เป็นวิธีการเพื่อให้สำเร็จผลที่ต้องการหรือนำไปสู่ผลที่ต้องการ
คำว่า พิธี ก็แผลงมาจากคำว่า วิธี นั้นเอง แต่มาในภายหลัง คำว่า พิธี มีความหมายเลือนลางหรือคลาดเคลื่อนไป ก็เหมือนกับสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นอนิจจังเช่นเดียวกัน เดี๋ยวนี่เรามาประดิษฐ์ศัพท์กันขึ้นใหม่ เช่นคำว่ากรรมวิธี ซึ่งสมัยโบราณไม่มี แล้วกลับเป็นศัพท์โก้ซึ่งที่แท้จริงก็อันเดียวกันนั้นแหละ กรรมวิธีไม่ใช่อะไร อาจจะใช้ในความหมายแตกต่างกันไปบ้าง แต่ตัวถ้อยคำก็ความหมายแบบเดียวกัน ทำนองเดียวหรือประเภทเดียวกัน เพียงกลับหน้ากลับหลังกัน พิธีกรรม คือ วิธีกรรม กลายเป็นกรรมวิธี พอมาถึงปัจจุบันมันเลือนไปจนกระทั่งว่าพิธีกรรมหรือวิธีกรรม คือสิ่งที่ทำกันไปอย่างนั้นเอง
หรือสักแต่ว่าทำ เช่นพูดกันว่าทำพอเป็นพิธี กลายเป็นว่าไม่จริงไม่จัง ทำพอให้เห็นว่าได้ทำแล้วแต่ที่จริงเดิมนั้นมันคือการกระทำที่เป็นวิธีการ เพื่อจะให้สำเร็จผล เพื่อจะให้สำเร็จผล เพื่อจะให้เกิดความเป็นจริงเป็นจัง เพื่อจะให้ได้ผลขึ้นมาเราจึงทำพิธีกรรม
พิธีกรรมเป็นจุดนัดหมายให้ตั้งใจเริ่มทำการอย่างจริงจัง
เวลาจะทำอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่มีเป็นพิธีขึ้นมา เราก็ไม่มีจุดนัดพบนัดหมาย ไม่มีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนว่าจะลงมือเมื่อไร จะเอาอย่างไร จะทำอะไร คนมาชุมนุมกันเป็นกลุ่ม ถ้าทำอะไรต่างคนต่างทำก็ไม่เป็นจริงเป็นจัง แต่พอเป็นพิธีกรรมก็คือมีจุดเริ่มต้น แล้วก็เป็นจุดนัดหมายให้ทุกคนรู้ว่าต่อไปนี้ กิจกรรมจะเริ่มแล้วนะ ถ้าไม่มีพิธีกรรมทุกคนที่มายังกระจัดกระจายกันอยู่ ก็ไม่รู้จะเอายังไง จะทำอะไร จะเริ่มต้นอย่างไร เมื่อไร เพราะฉะนั้น พิธีกรรมนี้ จึง
๑. เป็นจุดนัดพบให้ทุกคนที่ตอนแรกยังกระจัดกระจายอยู่ มารวมกันเป็นจุดเดียว
๒. เป็นจุดนัดหมายว่าจะเริ่มเรื่องนั้นแล้ว
พิธีกรรมเป็นเครื่องทำให้คนเตรียมตัว ทั้งเตรียมกายวาจา และเตรียมใจให้พร้อมที่จะทำเรื่องนั้น ๆ ก่อนจะถึงพิธี ยังพูดจา ยังหันไปทางโน้นทางนี้ ยังเคลื่อนไหววุ่นวายกันอยู่ แต่พอบอกว่าเริ่มพิธี ทุกคนก็หยุดหมด ต้องหันมาสนใจ เตรียมทำสิ่งเดียวกัน ฉะนั้น พิธีกรรมจึงเป็นจุดนัดพบและเป็น จุดนัดหมายโดยเฉพาะสำหรับชุมชนหรือหมู่ชนในสังคมนี้ ให้มองเห็นความสำคัญที่จะเริ่มการอะไร ๆ กันอย่างจริงจัง
ว่าที่จริง การทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องของชุมชน หรือเรื่องของส่วนรวม ก็
ต้องมีพิธีกรรมทั้งนั้นอย่างเช่นจะมีการประชุมสักครั้งหนึ่ง ก็ต้องมีพิธีกรรมมันอาจจะไม่ใช่พิธีกรรมตามแบบอย่างที่เราเข้าใจ ที่เป็นของโบราณ เป็นศาสนพิธี แต่พิธีกรรมก็คืออันนั้นแหละ เช่นลำดับการกระทำต่าง ๆ ในการประชุม การเปิดประชุมการปฏิบัติต่อกันในที่ประชุม เช่นเวลามีปาฐกถา มีการขึ้นไปบอกกล่าวนัดหมายที่ประชุมและเชิญผู้แสดงปาฐกถาขึ้นไป นี่เป็นพิธีทั้งนั้น
พิธีกรรมก็อันนี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของการที่จะกระทำให้จริงจัง เป็นจุดนัดหมายที่จะ
ทำให้กิจการนั้นมีการเอาจริงเอาจังกันขึ้นมา ให้ทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้พร้อมที่จะทำในเรื่องนั้น อันนี้ก็เป็นความหมายอย่างหนึ่งที่ง่าย ๆ ในเรื่องพิธีกรรม
พิธีกรรม เป็นวินัยพื้นฐานและนำคนให้ประสานเข้าในชีวิตชุมชน
อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมยังมีความหมายมากกว่านั้นอีก คือ เป็นเครื่องฝึกวินัย หรือ เป็นพื้นฐานในการที่จะฝึกฝนพัฒนาคนในด้านศีล
ศีลก็คือ การควบคุมกายวาจาได้ให้อยู่ในความดีงามเรียบร้อยสุจริต แต่เราจะคุมกายวาจาให้ดีงามสุจริตในเรื่องใหญ่ ๆ เป็นศีลได้ ก็ต้องควบคุมกายวาจา ตั้งแต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นไป พิธีกรรมเป็นเครื่องฝึกกายวาจาให้อยู่ในระเบียบ เพราะฉะนั้น พิธีกรรมจึงเป็นวินัยขึ้นต้น การให้คนเข้ามาสู่พิธี
กรรมนั้นทำเพื่ออะไร ความหมายอย่างหนึ่งก็คือเพื่อฝึกคนให้จัดหรือควบคุมพฤติกรรมของตน ๆ ให้ลงตัวเข้าที่ เช่น ให้มานั่งเป็นระเบียบให้สงบกายวาจา และให้ทำตามลำดับตามแบบตามแผนที่ตกลงกัน ให้หมู่คนเรียบร้อยงดงาม และทำกิจกรรมอย่างได้ผลพร้อมเพียงกัน เป็นส่วนหนึ่งของวินัยเป็นการฝึกเบื้องต้นของศีล
คนที่อยู่ในชุมชนร่วมกันทั้งหมดนี้จะมีศีล คือมีพฤติกรรมดีงาม ไม่เบียดเบียนกัน ก็ต้องรู้จักควบคุมกายวาจาของตนเองได้ ไม่ทำตามใจชอบของตัว ถ้าเอาแต่ใจชอบย่างเดียวก็เบียดเบียนกัน การทำพิธีกรรมหรือเข้ามาร่วมในพิธีกรรมนี้ เป็นการฝึกคนให้เริ่มรู้จักระเบียบแบบแผน ให้เริ่มที่จะไม่ทำตามใจชอบของตน นี่แหละคือการเริ่มรู้จักควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ อย่างเด็กๆ ก่อนจะไป ควบคุมตัวเองในเรื่องใหญ่ ๆ ได้ ก็อาศัยการฝึกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนแต่เราจะต้องรู้จักโยงให้มันไปเชื่อมโยงต่อกัน เรื่องของพิธีกรรมจึงเป็นการฝึกวินัยหรือเป็นวินัยเบื้องต้นที่จะนำเข้าสู่การที่จะเป็นคน มีศีล พิธีกรรมจึงจัดอยู่ในฝ่ายของศีลด้วย พิธีกรรมถ้าจะทำให้ถูกต้องก็ต้องเข้าใจความมุ่งหมายอันนี้
เมื่อเรานำพิธีกรรมมาใช้ในการฝึกคน มันก็มีความหมายต่อไปอีกในแง่ที่ว่าเป็นเครื่องนำคนเข้าสู่ชุมชน ให้เขามีชีวิตของชุมชนนั้นหรือของสังคมนั้น
เป็นธรรมดาของหมู่มนุษย์ที่คิดว่า เด็กรุ่นใหม่เกิดมาแล้วจะให้เขาอยู่ร่วมในชุมชนหรือในสังคมได้อย่างไร พอเรามีพิธีกรรมอะไรต่าง ๆ ขึ้นมาเด็กก็จะเริ่มเข้าสู่ชุมชนนั้นและเข้าสู่วิถีชีวิตของสังคมนั้น เขาเริ่มเรียนรู้ว่าระเบียบแบบแผน วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนหรือสังคมนั้นเป็นอย่างไร และด้วยการร่วมพิธีกรรมนั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรม เขาก็กลมกลืนเข้าไปในชีวิตของชุมชนและในวัฒนธรรม พิธีกรรมก็จึงกลายเป็นลักษณะหรือเป็นรูปแบบเฉพาะแห่งวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ อย่างที่เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ อันนี้ก็เป็นคุณค่าอีกด้านหนึ่งของพิธีกรรม ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีล อันสืบเนื่องจากวินัยที่แสดงผลออกมาทางด้านวัฒนธรรม เป็นเรื่องของชีวิตชุมชน หรือของหมู่คณะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสังคม
พิธีกรรม เป็นเครื่องน้อมนำศรัทธาที่จะพาให้เข้าถึงธรรมที่สูงขึ้นไป
อีกด้านหนึ่ง พิธีกรรมเป็นสิ่งน้อมนำจิตให้เกิดความเสื่อมใสและเพิ่มพูนศรัทธา เพราะว่าพิธีกรรมที่ทำถูกต้องจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความพรักพร้อมความพร้อมเพรียง และความประสานกลมกลืน เช่น คนตั้งร้อยตั้งพันก็สวดมนต์พร้อมกันหมด พระตั้ง ๑๐๐ รูป ก็สวดมนต์ประสานเป็นเสียงเดียวกัน กิริยาวาจาก็เรียบร้อยสงบ ทำให้เกิดศรัทธาปสาทะ คนผ่านไปมาได้ยินเสียงพระสวดพร้อมกันอย่างเป็นระเบียบ ไม่ใช่สวดกระแทกกระทั้นเอาตามใจ แต่สวดโดยตั้งใจจริง จากจิตที่สงบผ่องใส คนที่ได้ยินได้ฟังก็เกิดความอิ่มใจ ปลื้มใจ ฟังแล้วเกิดศรัทธาปสาทะ โน้มนำจิตใจให้สงบ แล้วก็เจริญยิ่งขึ้นไปในกุศลธรรม
ในคัมภีร์ท่านเล่าถึงเรื่องพระ ๕๐๐ รูป นั่งฟังพระพุทธรูปเจ้าเงียบไม่มีเสียงเลย เช่นในสามัญญผลสูตร มีเรื่องว่า พระเจ้าอชาตศัตรู ทำปิตุฆาต คือ ฆ่าพ่อ ต่อมาคงเกิดสำนึกหันมาสนใจจะฟังคำสอนทางศาสนา ก็ปรึกษาข้าราชบริพารว่า วันนี้เราจะไปหาอาจารย์สักท่านหนึ่ง จะไปที่ไหนดี ข้าราชบริพารก็เสนอกันต่าง ๆ ขณะนั้นได้มีหมอชีวกอยู่ด้วย ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าหมอชีวกเมื่อถูกถามก็เสนอมาทางพระพุทธเจ้า พระเจ้าอชาตศัตรูตกลงก็เสด็จไป
พอถึงเวฬุวัน ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ หมอชีวกกราบทูลว่าพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์อยู่ แสดงธรรมแก่พระจำนวนตั้ง ๕๐๐ รูป สงบมาก เมื่อเข้าไปใกล้ก็ทำให้แปลกในว่า ทำไมจึงเงียบอย่างนี้ คนตั้ง ๕๐๐ ไม่มีแม้แต่เสียงกระแอมไอ พระเจ้าอชาตศัตรูก็หวาดขึ้นมาทันที คงเป็นเพราะเกรงกลัวความผิดที่ตนได้กระทำมาแล้วก็ระแวงไป พระพุทธเจ้าก็คุ้นเคยกับพ่อด้วยจะเอาอย่างไรกับเราแน่ ก็เกิดหวาดกลัวขึ้นมาโดยระแวงว่าหมอชีวกวางแผนเพื่อจะจับตัวเรามาฆ่าเสียละกระมัง ก็เลยตรัสกับหมอชีวกทำนองนี้ หมอชีวกก็ปลอบโยนให้เบาพระทัยว่า ลักษณะชีวิตและวินัยของพระเป็นอย่างไร ท่านอยู่กันอย่างไร ก็เลยเบาพระทัยแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงเกิดความซาบซึ้งพระทัยอย่างหนึ่งว่าพระตั้ง ๕๐๐ องค์นั่งฟังพระพุทธเจ้า สงบ เงียบเหลือเกิน ไม่มีเสียงอะไร พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงเกิดทั้งความเกรงขามและความประทับใจ
นี่เป็นตัวอย่าง ที่แสดงว่าความงามสง่าน่าเกรงขาม ความน่าประทับใจ และความน่าเลื่อมใสศรัทธาสามารถเกิดได้จากพิธีกรรมที่เป็นไปตามความหมายแท้ ๆ คือมีความเรียบร้อย มีความเป็นระเบียบ ทำให้เกิดความงดงามในตัว
สำหรับคนส่วนมากที่อยู่ในโลกข้างนอกซึ่งยังไม่คุ้นเคย ยังไม่เข้าถึงความลึกซึ้งของธรรม จู่ ๆ จะให้ถึงนามธรรมเลย ก็มักไม่ไหว หรือไม่สนใจเลย จึงต้องพบกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมก่อนเพราะฉะนั้นพิธีกรรมจึงเป็นรูปแบบที่จะสื่อเข้าหาคนที่ยังไม่เข้าถึงพระศาสนาได้ลึกซึ้ง เรียกได้ว่าเป็นจุดนัดพบอีกแบบหนึ่ง โดยเป็นสื่อที่ชักนำหรือเป็นจุดเชื่อมต่อเขาให้เริ่มต้น อาจจะทำให้สนใจเกิดความประทับใจ แล้วน้อมนำจิตให้อยากรู้อยากจะเข้ามาเกี่ยวข้อง จนกระทั่งเข้ามาในพระศาสนาได้ เพราะฉะนั้นเราจึงอาจจะใช้พิธีกรรมในแง่ที่เป็นเครื่องชักจูงในเบื้องต้น
สำหรับคนที่เดินหน้าไปบ้างแล้วก็ดีไป ถือว่าเขาพอจะช่วยตัวเขาเองได้ การศึกษาธรรมในเบื้องสูงก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของตัวเขาเอง ที่เขาสนใจจริง ๆ แต่ในแง่ของคนทั่วไปส่วนมากต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้มาเป็นสื่อนำเบื้องต้นก่อน พิธีกรรมเมื่อใช้ถูกต้องก็เป็นประโยชน์มากในแง่นี้ อย่างที่ว่าเป็นจุดนัดพบกับคนทั่วไปที่ยังอยู่ในระดับเพิ่งจะแว่วเสียงธรรม ยังไม่เข้าสู่ธรรมในเบื้องสูง
พิธีกรรม เป็นโอกาสสำหรับพระที่จะปรากฏตัวและให้ธรรม
ทีนี้ สำหรับพระเองก็อาศัยพิธีกรรมนี้เป็นที่ปรากฏตัว ถ้าไม่มีพิธีกรรมพระก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสปรากฏตัว เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่พระเองจะใช้พิธีกรรมอย่างไรให้เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นสื่อนำคน
เข้าสู่พระศาสนา เข้าสู่พระธรรม ถ้าไม่รู้จักประโยชน์ พิธีกรรมก็อาจจะเสื่อมเสียกลายเป็นเหตุให้เกิดผลร้ายไป แต่โดยหลักการพิธีกรรม คือโอกาสที่พระจะปรากฏตัวแก่ประชาชนแแล้วก็จะได้ทำหน้าที่ของท่าน
พระมีหน้าที่อะไร ว่าตามหลัก หน้าที่ของพระก็คือการให้ธรรมแก่ประชาชน เรียกว่าธรรมทาน แต่การให้ธรรมนั้นให้อย่างไร ถ้าพูดให้เขาฟัง เช่น เทศน์ แสดงธรรม บรรยายธรรม อันนี้แน่นอน ชัด แต่การให้ธรรมนี้ให้โดยไม่ต้องพูดก็มี และพระจำนวนมากก็ยังพูดไม่เป็น ยังสอนธรรมด้วยการเทศน์ไม่เป็น บางทีก็เพราะเรียนรู้ไม่มากพอหรือบางองค์แม้จะเรียนรู้มากแล้ว แต่ก็พูดไม่เป็น เทศน์ไม่เป็น
ที่จริง พระสามารถให้ธรรมได้โดยไม่ต้องพูด พระอัสสชิท่านเดินไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ แต่อาการปรากฏตัวของท่านเป็นการให้ธรรมแก่อุปติสสมาณพ (คือพระสารีบุตร)โดยไม่ ต้องพูดเลย อุปติสสมาณพนั้นเมื่อเห็นพระอัสสชิผู้มีอาการสงบงามสง่าและมีลักษระของผู้เลื่อมใสว่าท่านผู้นี้ต้องมีดี ก็เลยตามไปแล้วก็ได้พบได้พูดโดยเดินตามไปตั้งแต่ท่านบิณฑิบาตจนกระทั่งท่านหยุดเตรียมฉัน จึงเข้าไปนมัสการแล้วก็พูดสนทนาซึ่งนำไปสู่การได้เข้าถึงธรรมต่อไป
เป็นอันว่าพิธีกรรมนี้เป็นจุดปรากฏตัวของพระสงฆ์ พระสงฆ์มีทั้งผู้สอนเป็นและสอนไม่เป็น แต่การให้ธรรมนี้ไม่จำเป็นต้องพูด การให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ก็เริ่มตั้งแต่การปรากฏตัวของพระไปทีเดียว ซึ่งสามารถให้ธรรมแก่ประชาชนโดยทันที ท่านจึงเน้นเรื่องวินัยว่าให้พระมีวินัยและวินัยนั้นก็ออกมาปรากฏในความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตประจำวันและการทำกิจหน้าที่ต่าง ๆ พิธีกรรมต่าง ๆ ก็เป็นส่วนเบื้องต้นของวินัย ซึ่งให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อพระไปปรากฏตัวที่ไหน ก็สอนธรรมได้ที่นั่นแม้โดยไม่ต้องพูด
คำว่าสอนธรรมอาจจะแคบไป การให้ธรรมนี้อาจจะให้โดยตรงเข้าไปถึงจิตใจเลย จะให้อย่างไร ขอทำความเข้าใจกันหน่อย ธรรมเบื้องแรกที่พระจะให้แก่ประชาชนก็คือให้ปสาทะ ความผ่องใสของจิตใจ
ประชาชนชาวบ้านนั้นวุ่นวายเดือดร้อนกับกิจการงานมากมาย ตลอดจนเรื่องในครอบครัวและอารมณ์กระทบกระทั่งในชีวิตประจำวันสารพัด จิตใจไม่ค่อยสงบแต่พอเห็นพระจิตใจก็สบายผ่องใสสดชื่น แต่ทั้งนี้หมายถึงว่าพระนี้ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วย แต่โดยทั่วไปที่เป็นมาพระท่านได้ปฏบัติดีงามกันมาจนทำให้เกิดเป็นบุญภาพ ขึ้นในสังคมแล้ว พอชาวบ้านเห็นพระก็จะเกิดความรู้สึกสบายใจ จิตใจผ่องใสเรียกว่าปสาทะขึ้นมาทันที ปสาทะนี่เป็นกุศลธรรม จิตใจดีงามเป็นกุศลขึ้นมาแล้วก็คือธรรมเกิดขึ้นในใจของเขาแล้ว โดยไม่ต้องพูดอะไร
เพราะฉะนั้น การปรากฏตัวของพระนี่ ถ้าปรากฏให้ถูกต้องก็เป็นการให้ธรรมแก่ประชาชน คือทำให้เขาได้ธรรมทันทีเลย เมื่อเกิดกุศลธรรมขึ้นในใจแล้วจิตใจเบิกบานผ่องใส ก็อาจจะส่งผลดีไปในวันนั้นทั้งวันก็ได้ ทำให้ทำอะไร ๆ ด้วยจิตใจชื่นบานผ่องแผ้ว อันนี้เป็นคุณค่าที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้น-
เราจะต้องไม่ลืมหลักข้อนี้ คือการให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ซึ่งพระส่วนใหญ่ให้ได้ทั้งนั้น เพราะชาวบ้านนับถือพระอยู่แล้ว เพียงแต่ตั้งใจสักหน่อยไม่ต้องรอให้เทศน์เป็น เพราะถ้าจะให้พูดเก่งนี้บางทีก็ยาก
ธรรมข้อต้น ที่พระจะให้แก่ประชาชน คือปสาทะและความปลอดเวรภัย
การให้ธรรมอย่างที่ว่านี้เป็นกิจเบื้องแรกของพระสงฆ์เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นพระดีทีท่านพรรณนาไว้ในพระไตรปิฎก จึงมีลักษณะอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “มโนภาวนีย์” แปลว่าผู้เป็นที่เจริญใจ ชาวบ้านญาติโยมอุบาสกอุบาสิกานี้ไปวัดบางทีเพียงแค่เพื่อให้ได้พบพระแล้วก็สบายใจ จิตใจก็เจริญงอกงามพัฒนาขึ้นมาเลย ดังที่ท่านกล่าวถึงอุบาสกบางท่านปรารภตอนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วเขาก็จะเสียโอกาสที่จะได้พบพระสงฆ์ผู้เป็นที่เจริญใจ ที่เรียกว่า มโนภาวนียา ไม่เหมือนตอนที่มีพระพุทธเจ้าอยู่ซึ่งมีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่น่าเลื่อมใสเคารพมาอยู่กันพร้อม เขาไปได้เห็นพระเหล่านั้นก็ทำให้ชื่นใจสบายใจ มีจิตใจผ่องใสเบิกบานเป็นกุศลไปตลอดทั้งวัน เป็นทัศนานุตริยะ เป็นยอดทัศนา เข้ากับหลักที่ว่า สมณานัญจ ทัสสนัง เอตมมงคลมุตตมัง แปลว่า การเห็นสมณะเป็นอุดมมงคล
ที่ว่ามานี้ก็เป็นหลักการอย่างหนึ่งที่สำคัญ และเป็นลักษณะที่สำคัญของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา คือความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ไม่ได้อยู่ที่การทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างสวรรค์กับมนุษย์ ไม่ใช่อยู่ที่การอยู่ป่าอยู่เขาเป็นฤาษีชีไพร แต่ความเป็นพระอยู่ที่ความเป็นผู้สงบ ไม่มีเวรภัย ในโอวาทปาติโมกข์ก็ได้บอกไว้แล้วว่า ผู้ที่ทำร้ายคนอื่นไม่เป็นบรรพชิต ผู้ที่เบียดเบียนคนอื่นไม่เป็นสมณะ ลักษณะของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาคือความเป็นผู้สงบ ปราศจากภัยอันตรายไม่มีเวรภัยแก่ผู้ใด
ถ้าเฉไถลออกไป ก็รีบหันกลับมาตั้งต้นใหม่
น่าเสียดายว่า ปัจจุบันนี้ ความหมายเหล่านี้ของพิธีกรรมได้เลอะเลือนไป เวลาทำพิธีกรรมก็ลืมไป ไม่ได้มองที่ความหมายเหล่านี้ แต่พากันไปมุ่งที่ความใหญ่โตหรูหรา ความโอ่อ่าอวดกัน ประกวดประชันในการใช้จ่ายมาก ว่าใครจะใช้เงินมากกว่ากัน พิธีกรรมของเรานี้ การบวชนาคของฉันครั้งนี้ใช้เงินตั้งเท่านั้นแสน พิธีกรรมแทนที่จะได้ผลก็กลายเป็นเสียผล ที่เสียก็เพราะว่า ความหมายที่แท้จริงมันหายสูญไป
เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาว่า ในเมื่อพิธีกรรมเป็นจุดนัดพบนัดหมายและเป็นโอกาสให้พระสงฆ์ปรากฏตัวแก่ประชาชนแล้ว พระสงฆ์จะใช้โอกาสนี้อย่างไร นี้เป็นตอนสำคัญ เป็นจุดนำที่จะชักจูงเขาให้เข้าสู่ธรรมต่อไป โดยมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้แสดงธรรม
ปัจจุบันคนจำนวนมากอยู่ในสังคมมีกิจการงานวุ่นวายหาเงินทองกันไป จะไปวัดทีหนึ่งก็คือไปงานศพนาน ๆ จะได้พบกันสักที พระก็ใช้โอกาสนี้เลย โดยพูดธรรมแสดงธรรมในตอนนั้น หรือไปในงานที่เขานิมนต์เช่นไปงานแต่งงาน บางทีคนที่มาในพิธีนั้นไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพระเลย แต่เพราะเป็นประเพณีต้องมีพิธีกรรมนี้ก็เลยต้องนิมนต์พระไป ตอนนี้พระก็มีโอกาสแล้ว พอไปในงานพิธีก็ใช้พิธี
กรรมนั้นเป็นโอกาสที่จะสอนธรรมไปเลยพอพิธีจวนเสร็จก็ให้โอวาทบ่าวสาว ถ้าพูดสอนไม่ได้ ก็พยายามให้ธรรมโดยไม่พูด ให้ดีที่สุด
เป็นอันว่า พิธีกรรมนี้ ถ้ามองในแง่เป็นที่มั่นสุดท้ายก็เป็นปราการสุดท้ายที่เราควรจะใช้ประโยชน์ เพื่อตรึงไว้ไม่ให้เสื่อมลงไปกว่านี้ เมื่อพระพุทธศาสนายังมีรูปแบบอยู่ก็แสดงว่ายังไม่หมดเสียทีเดียว เราก็เดินหน้ากลับโดยใช้ป้อมค่ายแห่งพิธีกรรมนี้เป็นจุดตรึงและเสริมกำลังเพื่อเขยิบตัวเดินหน้าต่อไป
พิธีกรรม เป็นรูปแบบที่จะสื่อธรรมสำหรับคนหมู่ใหญ่
เรื่องพิธีกรรมนี้ก็รู้กันว่า เป็นเรื่องรูปแบบ ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะให้มีสาระอยู่ในรูปแบบนั้นด้วยรูปแบบก็สำคัญ แต่รูปแบบจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีเนื้อหาสาระ ถ้ารูปแบบไม่มีเนื้อหาสาระไม่มีประโยชน์ แต่ในทางกลับกันถ้าเนื้อหาไม่มีรูปแบบช่วย เนื้อหานั้นก็จะเป็นประโยชน์ได้ยาก แม้เป็นสิ่งที่ต้องการแต่คนก็ไม่สามารถจะเอามาใช้ประโยชน์อะไร
เหมือนอย่างน้ำเป็นตัวสาระที่เราต้องการ แต่น้ำอยู่ในสระ จะกินทีไรต้องเดินไปที่สระแล้วก็เอามือวัก จะดื่มก็ยาก แล้วก็ต้องลำบากเดินทุกที แต่ถ้าเรามีแก้วน้ำหรือมีภาชนะ เราก็สามารถตักเอาน้ำนั้นมาใช้เท่าที่เราต้องการ และสามารถนำมาเก็บไว้ในที่ที่สะดวกที่จะใช้อีกด้วยอย่างไรก็ตาม ถ้าคนลืมไปว่าประโยชน์ของแก้วคือการบรรจุน้ำและใช้น้ำให้เป็นประโยชน์ เลยไปสาระวนอยู่กับการแต่งแก้วให้สวยให้งามประดิษฐ์ประดอย เสร็จแล้วก็ไม่ได้ใช้แก้วนั้นใส่น้ำ แต่เอาไปตั้งโชว์เฉย ๆ แก้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าเรารู้จักใช้แก้วน้ำก็เป็นประโยชน์มาก เพราะมันทำให้น้ำเกิดผลประโยชน์อย่างแท้จริงเต็มที่
ในทำนองเดียวกัน พิธีกรรมก็เป็นเพียงรูปแบบ ซึ่งจะมีค่าความหมายก็ต่อเมื่อมีเนื้อหาสาระอยู่ด้วย เราจึงต้องเอาเนื้อหาสาระมาใส่ แต่สำหรับคนทั่วไป ถ้าไม่มีรูปแบบช่วยเขาจะเข้าถึงเนื้อหาสาระได้ยาก รูปแบบจึงเป็นจุดที่จะเริ่มต้นชัดนำให้เขาได้เข้าถึงเนื้อหาสาระต่อไป รูปแบบทั้งหลายมีความสำคัญฉันใด พิธีกรรมก็ฉันนั้น มีความสำคัญโดยจะต้องมีเนื้อหาสาระอยู่ด้วย
ถ้าเหลือแต่รูปแบบ เนื้อหาไม่มีแล้ว ไม่ช้าก็จะเขวออกไป แล้วก็จะใช้ไม่ตรงตามความมุ่งหมาย เช่นกลายเป็นเรื่องของความโก้ หรูหรา ประกวดประชันกันว่าใครจะใหญ่จะโตกว่ากัน กลายเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเสียเปล่า เช่นบวชพระไม่เอาเนื้อหาสาระ ไม่รู้ว่าบวชเพื่ออะไร เอาแต่รูปแบบ ได้แต่จัดงานใหญ่โต มีการเชิญแขกมากมายตั้งโต๊ะเลี้ยงกันสิ้นเปลืองเงินทองเป็นหมื่อเป็นแสน แต่บวชได้ ๗ วันก็สึกแล้ว และระหว่างที่บวชก็ไม่ได้ฝึกฝนอบรมศึกษาเล่าเรียนอะไร
ตอนนี้เรามองประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เรามองคนทั้งสังคม ไม่ใช่มองที่ตัวบุคคลนั้นบุคคลนี้ คนส่วนใหญ่นี่เราต้องยอมรับความจริงว่าเขาจะเข้าถึงเนื้อหาสาระทันทีไม่ได้ จะต้องมีรูปธรรมที่จะสื่อกับเขาก่อน พิธีกรรมเป็นรูปธรรมที่มาสื่อ ถ้าเราใช้เป็นก็จะนำให้เขาเข้าสู่ตัวเนื้อหาต่อไป
เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ ก็ควรมีการสำรวจตรวจตราว่า พิธีกรรมยังบรรจุเนื้อหาสาระที่ต้องการอยู่หรือไม่และรูปแบบของมันยังสื่อสาระนั้นกับมหาชนในยุคสมัยที่เป็นปัจจุบันได้ดีหรือไม่
นอกจากคอยรักษาคอยใส่ความและเนื้อหาสาระเข้าไปในรูปแบบ พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบของพิธีกรรมให้สื่อสาระที่ต้องการแก่ประชาชนในยุคสมัยนั้น ๆ แล้ว รูปแบบที่รุงรังซึ่งถ่วงขัดกีดขวางการสื่อสาระ ก็ควรได้รับการขัดเกลาหรือชำระสะสาง
อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมยังเป็นรูปแบบย่อย ซึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ในรูปแบบใหญ่คือ วัฒนธรรมประเพณี ที่เรียกกันว่าเป็นเอกลักษณ์ของสังคมนั้น การชำระสะสางพิธีกรรมจึงต้องปฏิบัติด้วยความมีสติ โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ให้เสียหลักที่ว่า พิธีกรรมไม่พึงเป็นรูปแบบที่นิ่งตายไร้เนื้อหา สื่อสาระไม่ได้ แล้วกลายเป็นเปลือก ซึ่ง ไม่ทำหน้าที่ในการช่วยปกป้องรักษาเนื้อหา แต่กลับไพล่ไปเป็นเครื่องปิดกั้นประโยชน์ และบดบังคุณค่าของตนเอง
ถ้าพระพุทธศาสนาเหลือแต่พิธีกรรมจริง แต่พิธีกรรมนั้นยังมีความหมายและเนื้อหาสาระถูกต้องปัญหาก็ยังไม่ร้ายแรงนัก แต่สภาพในทางเสื่อมที่หนักในปัจจุบัน ก็คือ นอกจากพิธีกรรมจะมีความหมายเลือนลางหรือคลาดเคลื่อนออกไป จนกลายเป็นรูปแบบที่ไม่มีเนื้อหาสาระ หรือเป็นเปลือกที่มีเนื้ออย่างอื่นเข้ามาแทนเนื้อแท้แล้ว แม้แต่สังฆกรรมหลายอย่างที่เป็นส่วนแก่นสารสำคัญของพระวินัย ก็ยังได้เลือนลางลงไปกลายเป็นพิธีกรรมในความหมายที่คลาดเคลื่อนไปแล้วด้วย
เพราะฉะนั้น งานแก้ไขปรับปรุงที่จะต้องทำเกี่ยวกับพิธีกรรม เพื่อฟื้นความหมายและใสเนื้อหาสาระกกลับเข้าไปในรูปแบบของมัน จึงไม่ใช่เป็นเพียงงานในการเชื่อมโยงพิธีกรรมเข้าสู่พระวินัยเท่านั้น แต่เป็นงานในขั้นของพระวินัยโดยตรงทีเดียว ด้วยเหตุนี้ เรื่องของพิธีกรรมใน บัดนี้จึงมีความสำคัญถึงขั้นเป็นเนื้อเป็นตัวของพระพุทธศาสนาด้วย
พิธีกรรมเป็นส่วนเบื้องต้นของวินัย โดยเป็นส่วนที่สื่อกับหมู่ชนส่วนใหญ่เขาเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเครื่องนำเขาเข้าสู่วินัยที่จะนำต่อให้เข้าถึงเนื้อหาสาระที่เป็นธรรมะสูงขึ้นต่อไป และอีกด้านหนึ่งในทางกลับกันวินัยก็เป็นที่ปรากฎตัวของธรรมะในโลกแห่งสมมติของมนุษย์ด้วย ดังนั้นถ้าจะให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ด้วยดีจะต้องทำให้พิธีกรรมเป็นเครื่องนำเข้าสู่วินัยที่สูงขึ้นไป เพื่อเข้าถึงธรรมในที่สุด แและถ้าเมื่อใดพิธีกรรมเป็นที่ปรากฎแสดงตัวของบุคคลผู้เข้าถึงธรรมแล้ว ที่จะมาสื่อสารกับมหาชนได้สะดวก เมื่อนั้นก็เป็นความสมบูรณ์แห่งความหมาย และเป็นความสำเร็จแห่งความมุ่งหมายของพิธีกรรม
---------------------------------
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น